xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรายงาน กนง.มองภาพรวม ศก.ไทยแนวโน้มดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดรายงาน กนง.มองภาพรวม ศก.ไทยแนวโน้มดีขึ้น พร้อมจับตาปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศ เงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยนยังผันผวน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉบับย่อ ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 29 มี.ค.60 โดยระบุว่า คณะกรรมการฯ เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้ภาวะการเงินยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง

"ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มปรับดีขึ้น และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้น และกลับเข้าสู่ค่ากลางของเป้าหมายในระยะข้างหน้า แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบางในบางจุด และกระจุกตัวในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคต่างประเทศที่ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง และความไม่แน่นอนอีกมาก" รายงาน กนง.ระบุ

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากพัฒนาการราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ สำหรับภาวะการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในระดับผ่อนคลายแม้จะตึงตัวขึ้นเล็กน้อย ส่วนหนึ่งจากเงินบาทที่โน้มแข็งค่าขึ้นบ้างเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่งสำคัญ ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควรมองไปข้างหน้า ในภาวะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจมีความเปราะบาง คณะกรรมการฯ เห็นถึงความจำเป็นของนโยบายที่สนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง (structural reforms) อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจไทย ซึ่งจะช่วยลดทอนผลกระทบจากความไม่แน่นอนต่างๆ ต่อภาคเศรษฐกิจจริงในระยะต่อไป

นอกจากนี้ กรรมการส่วนหนึ่งเห็นว่า แม้ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน การสะสมความไม่สมดุลในระบบการเงินอาจเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะการกู้ยืมเงินที่ไม่ได้ผ่านช่องทางธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากข้อแตกต่างทางเกณฑ์กำกับดูแลระหว่างสถาบันการเงินประเภทต่างๆ จึงจำเป็นที่องค์กรกำกับดูแลควรประสานงานอย่างใกล้ชิดเพื่อปิดช่องว่างของเกณฑ์กำกับดูแล และร่วมติดตามสัญญาณความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อการดำเนินการจัดการกับความเสี่ยงนั้นๆ ได้อย่างเหมาะสม และทันท่วงทีต่อไป

"ในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นว่า นโยบายการเงินที่อยู่ในระดับผ่อนปรนเพียงพอ และต่อเนื่อง ยังมีความจำเป็นในภาวะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ในระยะเริ่มแรก และกระจุกตัวในบางภาคส่วน โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อดูแลให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ" รายงาน กนง.ระบุ

สำหรับภาวะเศรษฐกิจในประเทศนั้น เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้การส่งออกสินค้าฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และการใช้จ่ายของภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของอุปสงค์ในประเทศในระยะต่อไป สำหรับอุปสงค์ภายในประเทศของภาคเอกชนยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังไม่เห็นสัญญาณการส่งผ่านผลดีจากการฟื้นตัวของการส่งออกที่ชัดเจนนัก โดยการบริโภคภาคเอกชนได้แรงสนับสนุนจากรายได้ และความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น แต่ยังมีปัจจัยฉุดรั้งจากหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้จะมีแนวโน้มชะลอลงก็ตาม ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังกระจุกตัวอยู่ในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออกเป็นหลัก สอดคล้องกับการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ที่ยังกระจุกตัวในกลุ่มธุรกิจดังกล่าว

คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น และดีกว่าประมาณการเดิม โดยได้ปรับขึ้นประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 เป็น 3.4% จากเดิม 3.2% ตามแนวโน้มการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้นเป็นสำคัญ และคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.6% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากทั้งการส่งออก และการใช้จ่ายภายในประเทศ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวท่ามกลางความไม่แน่นอนที่มีอยู่มากในด้านต่างประเทศโดยเฉพาะทิศทางนโยบายเศรษฐกิจ และการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งคณะกรรมการฯ จะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยปรับตัวสูงขึ้น แต่อาจผันผวนในระยะสั้นจากผลของฐานราคาอาหารสดที่สูงจากปัญหาภัยแล้งในปีที่แล้ว และมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อาจปรับลดลงมากกว่าที่ประเมินไว้ จากอุปทานส่วนเกินของน้ำมันในตลาดโลกที่อาจเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2560 ลงเล็กน้อย โดยเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่1.2% และ 0.7% ตามลำดับ

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1.9% และ 1.0% ตามลำดับ จากประมาณการแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่จะสูงขึ้นสอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และตามแนวโน้มแรงกดดันด้านอุปสงค์ของไทยที่ทยอยมากขึ้นตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยปรับสูงขึ้น และกลับเข้าสู่ค่ากลางของกรอบเป้าหมาย สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางของสาธารณชนที่ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่ากลางของกรอบเป้าหมาย

คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ สามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งใน และต่างประเทศได้ค่อนข้างดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุด อาทิ ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจที่ด้อยลงทั้งในสินเชื่อธุรกิจโดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสินเชื่อครัวเรือน รวมทั้งพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ภายใต้ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินไป (underpricing of risks)

สำหรับพัฒนาการความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bonds) ของบางบริษัทในช่วงที่ผ่านมานั้น พบว่าไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถในการระดมทุนของภาคธุรกิจ โดยบริษัทส่วนใหญ่ที่ออก unrated bonds และไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ยังสามารถออกตราสารใหม่ (rollover) หรือหาแหล่งเงินทุนอื่นทดแทนได้ ขณะที่ต้นทุนการระดมทุนของผู้ออกตราสารมีการกระจายตัวมากขึ้นตามระดับความเข้มแข็งของฐานะทางการเงินของธุรกิจที่ออกตราสาร สะท้อนว่าตลาดให้ความสำคัญ และสามารถแยกแยะระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกันของผู้ออกตราสารได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และส่วนอื่นๆ ของระบบการเงินที่อาจมีสัญญาณของการประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินไปอย่างใกล้ชิดต่อไป

ส่วนภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศนั้น เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น โดยเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ G3 มีแรงส่งต่อเนื่องสะท้อนจากดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการบริโภคภาคเอกชนที่มีทิศทางปรับดีขึ้นโดยเฉพาะ

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้านเศรษฐกิจเอเชีย ฟื้นตัวตามการส่งออกที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เริ่มปรับสูงขึ้นในหลายประเทศ ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า โอกาสที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมอาจลดลงในระยะข้างหน้า

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงอยู่มาก โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่า ความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ มีสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน โดยเฉพาะจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าการลงทุน และท่าทีต่อข้อตกลงทางการค้า รวมทั้งการตอบโต้ที่อาจเกิดขึ้นจากประเทศคู่ค้าหลัก ซึ่งหากสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายดังกล่าวอาจกระทบเศรษฐกิจคู่ค้า และเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการค้า และความเชื่อมั่นได้ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาเสถียรภาพการเงินจีน รวมถึงพัฒนาการทางการเมือง และปัญหาภาคการเงินในยุโรป ซึ่งคณะกรรมการฯ มองว่า ความเสี่ยงดังกล่าวไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด

ส่วนภาวะตลาดการเงิน ความผันผวนในตลาดการเงินอยู่ในระดับสูง โดยนักลงทุนกลับมาให้ความสำคัญกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ภายใต้บรรยากาศของความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดพันธบัตร และตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทย ผันผวนตามการปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed

"ในระยะต่อไป เงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยนจะยังคงมีความผันผวนสูง โดยค่าเงินบาทสามารถเคลื่อนไหวได้ทั้งในทิศทางอ่อนค่า และแข็งค่า ขึ้นอยู่กับความคืบหน้าของการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และการคาดการณ์ของตลาดถึงจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed เป็นสำคัญ" รายงาน กนง.ระบุ

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้หารือถึงการทยอยลดข้อจำกัดด้านกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายขาออก และขาเข้าสมดุลมากขึ้น นอกจากนั้น ในภาวะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวนสูง การเริ่มพิจารณาปรับใช้เครื่องมือที่อิงกลไกตลาด (market-based instruments) อาจช่วยชะลอความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายได้บางส่วน ซึ่งจะเอื้อให้อัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวอย่างเหมาะสม (orderly adjustment) ขณะเดียวกัน คณะกรรมการฯ เห็นว่า ภาคเอกชนควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับการบริหารจัดการความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนในระยะข้างหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น