xs
xsm
sm
md
lg

เยียวยา “เหยื่อ” หุ้นเน่า/สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


     นักลงทุนรายย่อยจำนวนหลายหมื่นคนที่ได้รับความเสียหาย จากบริษัทจดทะเบียน 3-4 แห่งซึ่งเกิดปัญหาฐานะทางการเงิน กำลังมีข่าวดีเข้ามาช่วยเยียวยาสภาพจิตใจ เพราะหน่วยงานในตลาดหุ้นเตรียม “จับเข่า” คุยกัน เพื่อหามาตรการบรรเทาทุกข์ผู้ถือหุ้นรายย่อย
    การหารือของหน่วยงานในตลาดหุ้น จะนำไปสู่มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ถือหุ้นรายย่อยได้เพียงใด เป็นสิ่งที่ต้องรอดู
    แต่การออกมาเคลื่อนไหวและความพยายามหาแนวทางช่วยเหลือนักลงทุนที่ “ติดกับ”อยู่ในหุ้นเน่าๆ เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า หน่วยงานในตลาดหุ้น ได้ตระหนักถึงความเสียหายที่บริษัทจดทะเบียนก่อขึ้น และสำนึกในความเสียหายของนักลงทุนที่ตกเป็นเหยื่อ

     บริษัทจดทะเบียนที่เกิดวิกฤตหนักประกอบด้วย บริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น RICH บริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น IFEC บริษัท โพลารีส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น POLAR และบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น EARTH
    ทั้ง 4 บริษัทมีปัญหาฐานะทางการเงิน ไม่สามารถชำระหนี้ได้ กลายเป็นกิจการที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว และมองไม่เห็นทางออกในการแก้ปัญหา
     สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ดูเหมือนจะอยู่ในภาวะจนตรอกในการแก้ไขบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้
     ไม่รู้จะหาทางช่วยเหลือผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างไร และหุ้นทั้ง 4 บริษัทถูกพักการซื้อขายมาพักใหญ่แล้ว

      ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ เกาะติดปัญหาของทั้ง 4 บริษัทจดทะเบียนมาตลอด แต่สิ่งที่ทำได้คือ สั่งให้ผู้บริหารบริษัท ชี้แจงข้อมูลหนี้ ฐานะการเงิน งบการเงิน หรือการทำธุรกรรมต่างๆเท่านั้น
     แต่ไม่สามารถดับวิกฤต ไม่อาจระงับยับยั้งไม่ให้ปัญหาลุกลามบานปลาย และไม่อาจหยุดผลกระทบของผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ในทันที
     แก้ปัญหาหุ้นทั้ง 4 บริษัทได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่อาจช่วยดับทุกข์ของผู้ถือหุ้นรายย่อย และไม่สามารถกดดันหรือสั่งให้คณะกรรมการและผู้บริหารบริษัท เร่งแก้ปัญหา เพื่อให้บริษัทกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติได้

     เพราะอำนาจการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน ถูกจำกัดด้วยขอบเขตของกฎหมาย จนก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์แทบเป็นแค่เสือกระดาษ ไม่สามารถกดดันหรือสั่งให้คณะกรรมการหรือผู้บริหารบริษัท ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งพื่อแก้วิกฤต ได้แต่ยืนดูหายนะของนักลงทุนที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเท่านั้น
    อย่างไรก็ตามการออกโรงเคลื่อนไหว ประสานความร่วมมือเพื่อหาช่องทางหรือมาตรการช่วยเหลือผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่ง “ติดกับ” อยู่ในหุ้นเน่าๆ นั้น เป็นการส่งสัญญาว่า ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์และสมาคมบริษัทหลลักทรัพย์ หรือสมาคมโบรกเกอร์ จะไม่ยอมนิ่งดูดายอีกต่อไป
    หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดหุ้น จะไม่ยอมยกธงขาว จะไม่ทอดทิ้งนักลงทุน แต่กำลังหาทางช่วยในทุกวิถีทาง

     และเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่สมาคมโบรกเกอร์ ออกมาทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์นักลงทุน
การแก้ปัญหาวิกฤตของ 4 บริษัทจดทะเบียนที่ยืดเยื้อเรื้อรังมายาวนาน เนื่องจากขอบเขตของกฎหมาย และกฎเกณฑ์ที่ใช้กำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนในปัจจุบัน ไม่เพียงพอที่จะคลี่คลายวิกฤตบริษัทจดทะเบียนอย่างทันสถานการณ์ได้
     ก.ล.ต.ไม่มีอำนาจแทรกแซงหรือควบคุมบริษัทจดทะเบียน กฎหมายไม่เปิดช่องให้สั่งกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อหยุดยั้งวิกฤตการดำเนินงานไม่ให้ลุกลาม จนสร้างความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างรุนแรงในวงกว้าง
     ดังนั้นจึงต้องทบทวนขอบเขตของกฎหมาย และถ้าไม่เอื้ออำนวยต่อการกอบกู้วิกฤตของบริษัทจดทะเบียนอย่างทันสถานการณ์ จะต้องปรับกฎเกณฑ์ เสนอแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจก.ล.ต.ในการเข้าไประงับยับยั้งวิกฤตในบริษัทจดทะเบียน

    กระบวนการแก้ปัญหาบริษัทจดทะเบียนที่ล่าช้า ทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยต้องจมปรักอยู่ในความทุกข์ โดยไม่รู้จะขอความช่วยเหลือจากใคร และไม่รู้ว่าวิกฤต 4 บริษัทจดทะเบียนจะจบลงอย่างไร
    การที่หลายหน่วยงานในตลาดหุ้นหันมาจับมือ ร่วมกันหาทางดับวิกฤตบริษัทจดทะเบียน หาทางช่วยเหลือเยียวยาผู้ถือหุ้นรายย่อย ถือเป็นจุดเริ่มต้น เป็นความหวังเล็กๆ ในกระบวนการปกป้องคุ้มครองนักลงทุน
    และเป็นการส่งสัญญาณว่า หน่วยงานในตลาดหุ้น เริ่มตระหนักในบทบาท หน้าที่และภาระรับผิดชอบในการดูและปกป้องผลประโยชน์ของผู้ลงทุนแล้ว
    หลังจากละเลย เพิกเฉยต่อความเสียหายของผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ตกเป็นเหยื่อหุ้นเน่าๆมานานเต็มที

กำลังโหลดความคิดเห็น