เมื่อวันที่3 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศลงโทษ 2 ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ในความผิดเกี่ยวเนื่องจากคดีการใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ บีฟิท จำกัด (มหาชน)
2 ผู้บริหารบริษัทโบรกเกอร์ที่ถูกสั่งพักการให้ความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนเป็นเวลา 1 ปี ประกอบด้วย นางสาวชญานี โปขันเงินและนายชยันต์ อัคราทิตย์ ฐานปกปิดหรือบิดเบือนข้อมูลความจริงที่แจ้งต่อก.ล.ต.
คดีนี้เป็นผลสืบเนื่องจากคดีการใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ บีฟิท ซึ่งก.ล.ต.สั่งปรับนายสาคร สุขศรีวงศ์ อดีตกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ บีฟิท จำนวน 5 แสนบาท ฐานที่รู้ข้อมูลการที่ โอเอสเค อินเวสเม้นท์ของมาเลเซียจะครอบงำกิจการหุ้นบีฟิทในราคาสูงกว่าราคาที่ซื้อขายในกระดาน และชักชวนให้บุคคลอื่นซื้อหุ้นบีฟิท
นางสาวชญานีและนายชยันต์ ซึ่งเป็นผู้ติดต่อประสานงานให้ครอบงำกิจการหุ้นบีฟิท ได้ให้ถ้อยคำกับก.ล.ต.ในลักษณะที่เป็นการช่วยเหลือบุคคลที่ถูกตรวจสอบความผิด โดยปกปิดข้อมูลหรือบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับชื่อบริษัทที่จะถูกซื้อกิจการและวันที่เกิดข้อมูลภายใน เพื่อมิให้ดำเนินคดีนายสาครในความผิดการใช้ข้อมูลภายใน
การลงโทษ 2 ผู้บริหารโบรกเกอร์ที่พยายามช่วยเหลือผู้กระทำความผิดการใช้อินไซด์ เอาเปรียบนักลงทุนทั่วไป ไม่น่าจะมีข้อโต้แย้งใด แต่สิ่งที่สงสัยคือ
ทำไมจึงต้องปกปิดทั้งตำแหน่งและต้นสังกัดของ 2 ผู้บริหารโบรกเกอร์ ทำไมจึงไม่เปิดเผยให้สาธารณะชนรับรู้
นางสาวชญานีและนายชยันต์ เป็นผู้บริหารระดับไหน สังกัดโบรกเกอร์ใด สำหรับคนในแวดวงตลาดหุ้นคงเสาะหาข้อมูลไม่ยาก แต่ประชาชนทั่วไปอาจต้องเสียเวลาค้นหา
ก.ล.ต.คิดว่า ความผิดที่เกิดขึ้น เป็นความผิดเฉพาะบุคคล จึงปกปิดโบรกเกอร์ต้นสังกัด เพื่อรักษาชื่อเสียงองค์กรต้นสังกัดหรืออย่างไร
ความผิดกรณีนี้ แม้จะเป็นความผิดเฉพาะบุคคล แต่องค์กรต้นสังกัดก็มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบในผลกระทบด้านชื่อเสียงและภาพพจน์ที่จะตามมา
เพราะองค์กรต้นสังกัดควรกลั่นกรองบุคลากรที่จะเข้ามาร่วมงานในองค์กร ต้องกำกับ ควบคุมดูแลคนในองค์กรไม่ให้กระทำความผิด
ไม่ว่าองค์กรภาคธุรกิจเอกชน องค์กรภาครัฐ หรือองค์กรทางการเมือง เมื่อบุคคลในองค์กรกระทำความผิด องค์กรจะปฏิเสธความรับผิดชอบ โดยโยนเป็นความผิดเฉพาะบุคคล โดยอ้างว่าองค์กรไม่เกี่ยวได้อย่างไร
ก.ล.ต.ไม่มีความจำเป็นใดที่ต้องปกปิดต้นสังกัดของ 2 ผู้บริหารโบรกเกอร์ ไม่มีเหตุผลใดที่ต้องช่วยรักษาชื่อเสียงและภาพพจน์ของโบรกเกอร์ต้นสังกัดของบุคคลที่กระทำความผิด
นางชญานีและนายชยันต์ เป็นกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ โบรกเกอร์เบอร์ 43 โดยนายชยันต์เป็นน้องชายของดร.พิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีข่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเป็นอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท หลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์อีกด้วย
การสั่งลงโทษน้องชายรัฐมนตรี ถือว่าก.ล.ต.ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่เห็นแก่หน้าใคร ผิดว่าไปตามผิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องชมเชยการทำงาน
แต่สิ่งที่ต้องติติงคือ เหตุใดก.ล.ต.จึงต้องปกปิดโบรกเกอร์ต้นสังกัดของผู้กระทำผิดทั้ง 2 ราย ทำไมไม่เปิดข้อมูลให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อให้สาธารณะชนได้รับรู้
เพราะการเปิดเผยชื่อโบรกเกอร์ต้นสังกัดของผู้กระทำความผิด จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ลงทุน เนื่องจากจะมีข้อมูลเพื่อพิจารณาเลือกใช้บริการกับโบรกเกอร์มากขึ้น
ข้อมูลตำแหน่งและต้นสังกัดของ2ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ที่พยายามช่วยเหลือผู้กระทำความผิดในการใช้ข้อมูลภายใน ก.ล.ต.ควรเปิดเผยต่อสาธารณะชนตีแผ่ให้นักลงทุนรับรู้ เพื่อไตร่ตรองการใช้บริการกับบล.เอเชีย เวลท์
และบล.เอเชีย เวลท์ต้องยอมรับผลกระทบด้านภาพลักษณ์ที่ตามมา เมื่อไม่สามารถควบคุมให้บุคคลากรในองค์กรปฏิบัติตามกฎกติกาของสังคมได้
จะกล่าวหาว่า ก.ล.ต.นำข้อเท็จจริงมาประณามบล.เอเชีย เวลท์ไม่ได้