คำตัดสินลงโทษอดีตผู้บริหารบริษัท เนชัน มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)หรือหุ้น NMG ในความผิดกีดกันผู้ถือหุ้นไม่ให้เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น กลายเป็นข่าวใหญ่ที่ได้รับความสนใจ แม้จะเป็นคดีความผิดเล็กน้อยที่มีโทษปรับก็ ตาม
อดีตผู้บริหารเนชั่นฯ9 คนที่ร่วมกันกีดกันไม่ให้ผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น แม้จะก่อความผิดเพียงวาระเดียว แต่เข้าข่ายความผิดหลายกระทงตามพ.ร.บ.พลักทรัพย์ ถูกศาลอาญากรุงเทพใต้ลงโทษปรับคนละ500,000 บาท
และคงถูกสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ออกประกาศห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทที่มีมหาชนถือหุ้นสักระยะหนึ่ง
คดีนี้ถือว่าสรุปเร็วมาก โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2558 แต่มีการสอบสวน รวบรวมหลักฐาน ส่งเรื่องฟ้อง จนศาลมีคำตัดสินภายในเวลาประมาณ 2 ปี ทั้งที่คดีหุ้นทั่วไปจะใช้เวลานานมาก บางคดีใช้เวลาเกือบ 10 ปีจึงมีคำตัดสิน
ความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ในแต่ละปีมีจำนวนไม่น้อย มีทั้งความผิดที่ไม่ก่อความเสียหายรุนแรง บทลงโทษเบาเพียงแค่ปรับ และมีทั้งความผิดที่สร้างความเสียหายร้ายแรงให้นักลงทุนในวงกว้าง บทลงโทษหนักถึงขั้นจำคุก
แต่ผู้ที่กระทำความผิดจนถูกลงโทษจำคุกมีจำนวนน้อยมาก ทั้งที่มีการก่อคดีสร้างความเสียหายร้ายแรงให้นักลงทุนในตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง
แม้ในปัจจุบัน ยังมีกลุ่มคนที่ก่อพฤติกรรมปล้นเงินนักลงทุนอย่างเป็นขบวนการ โดยใช้วิธีการเพิ่มทุน นำเงินซื้อทรัพย์สินในราคาที่สูงเกินจริง ก่อนยักย้ายถ่ายเทเงินเข้ากระเป๋าตัวเองและพวกพ้อง
คดี 9 อดีตผู้บริหารเนชั่นฯถือเป็นคดีทั่วไป ไม่ได้เป็นคดีคอขาดบาดตาย เหมือนการปั่นหุ้น การใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชน์จาการซื้อขายหุ้น เอาเปรียบนักลงทุนทั่วไป การยักยอกทรัพย์ การแต่งบัญชีงบการเงิน หรือการสร้างข้อมูลเท็จ
และถ้าไม่ใช่เพราะความเป็นสื่อมวลชน ถ้าไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนที่เป็นสื่อค่ายใหญ่ การที่ผู้บริหารบริษัทฯถูกตัดสินลงโทษอาจจะไม่เป็นข่าวเสียด้วยซ้ำ
เพราะคดีความผิดเกี่ยวกับพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มักไม่เป็นข่าว โดยหลังจากที่ก.ล.ต.ประกาศกล่าวโทษ และแจ้งให้สาธารณชนรับทราบแล้ว คดีจะตกอยู่ในความเงียบ
ไม่มีใครตามว่าเมื่อคดีถูกส่งไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอแล้ว การสอบสวนมีความคืบหน้าไปอย่างไร จะส่งสำนวนให้อัยการสั่งฟ้องเมื่อไหร่ และเมื่อไปถึงอัยการแล้ว อัยการมีความเห็นอย่างไร จะฟ้องหรือไม่
หรือแม้ศาลจะมีคำตัดสินแล้ว มักจะไม่มีข่าวให้สาธารณะชนรับรู้ในวงกว้าง ทั้งที่ควรจะมีการตีแผ่พฤติกรรมความผิด เพื่อให้ประชาชนรับรู้ว่า ใครทำผิดอะไรในตลาดหุ้น และผู้ที่กระทำผิดได้รับโทษอย่างไร
คดีเนชั่นฯที่ถูกตีแผ่ให้สังคมรับรู้ในวงกว้าง น่าจะเป็นจุดเริ่มต้น ในการติดตามคดีต่างๆในตลาดหุ้นมานำเสนอ เพื่อสะท้อนให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ว่า ในตลาดหุ้นมีการก่ออาชญากรรม
อยู่หมือนกัน
คนกลุ่มใดบ้างที่ก่อความผิด บริษัทจดทะเบียนแห่งใดบ้างที่นักลงทุนจะต้องระมัดระวัง
คดีเนชั่นฯถูกเกาะติดและถูกนำเสนออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ขั้นตอนของ ก.ล.ต.ขั้นตอนอัยการ จนถึงคำตัดสินของศาล เนื่องจากเป็นคดีที่ได้รับความสนใจ
ฐานะความเป็นสื่อ ซึ่งควรแยกแยะผิดถูก ควรเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตามระเบียบ กติกาของสังคมและกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่อดีตผู้บริหารเนชั่นฯกลับแหกกฎ ละเมิดกฎหมาย กระทำความผิดเสียเอง สังคมจึงจับจ้องผลแห่งคดี
ทุกพฤติกรรมความผิดในตลาดหุ้น ไม่ว่าว่าจะเป็นคดีเล็ก โทษแค่ปรับ หรือคดีใหญ่ โทษหนักถึงติดคุก ควรได้รับความสนใจในการติดตามนำเสนอและตีแผ่ เช่นเดียวกับคดีเนชั่นฯ เพราะแต่ละพฤติกรรมความผิด ล้วนก่อความเสียหายให้นักลงทุนทั้งสิ้น
การตีแผ่พฤติกรรมผิดในตลาดหุ้น จะช่วยให้สาธารณะชนรับรู้พฤติกรรมของคนและร่วมกันต่อต้านคนที่กระทำความผิด แม้จะเป็นคดีเกียวกับหุ้นก็ตาม
บทลงโทษในความผิดกีดกันผู้ถือหุ้นไม่ให้เข้าร่วมประชุมของ 9อดีตผู้บริหารดเนชั่นฯนั่นไม่รุนแรงเท่าไหร่ แต่การถูกตีแผ่ความผิดให้สังคมรับรู้นั้นหนักหนากว่ามาก
เสียค่าปรับไม่เท่าไหร่แต่เสียหน้านี่รับไม่ไหว