เมื่อวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รายงานมาตรการลงโทษทางแพ่งอดีตผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน 2 แห่ง ได้เงินค่าปรับรวมกว่า 20 ล้านบาท
คดีแรกเป็นความผิดการใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชน์การซื้อขายหุ้น ผู้ที่ถูกลงโทษประกอบด้วยนายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย อดีตกรรมการผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งบริษัท นิปปอนแพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น NPP
นายสุรพงษ์ถูกปรับเป็นเงิน 10,336,293.33 บาท และส่งคืนผลประโยชน์รวม 7,602,368 บาท และห้ามดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีมหาชนถือหุ้นเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน
ปรับนางสาวรินนภา คุณะวัฒน์สถิตย์ ผู้ให้การสนับสนุนการกระทำผิดของนายสุรพงษ์เป็นเงิน 333,333.33 บาท
อีกคดีเป็นความผิดกรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและความระมัดระวัง ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย โดยปรับอดีตกรรมการและผู้บริหารบริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือหุ้น CWT รวม 6 ราย รายละ 5 แสนบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3 ล้านบาท และสั่งห้ามเป็นกรรมการและผู้บริหารบริษัทที่มีมหาชนถือหุ้นเป็นเวลา 6 เดือน 1 คน ส่วนอีก 5 คนถุกห้ามเป็นเวลา 3 เดือน
อดีต 6 กรรมการและผู้บริหาร บริษัท ชัยวัฒนาฯ ได้ร่วมกันอนุมัติจ่ายเงินซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าชีวมวลส่วนที่เหลือ 20 ล้านบาท ก่อนที่ผู้ขายหุ้นจะดำเนินการทุกอย่างครบตามข้อตกลง ทำให้บริษัท ชัยวัฒนาฯต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในการดำเนินการส่วนที่เหลือเอง
คดีหุ้น CWT ก.ล.ต.ใช้เวลาสอบสวน สรุปความผิดและดำเนินมาตรการลงโทษภายในเวลาที่รวดเร็ว เพราะความผิดเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2559 เพียงไม่กี่เดือนก็ปิดคดีได้ โดยอดีตกรรมการและผู้บริหารบริษัทฯทั้ง 6 ราย ยินยอมจ่ายค่าปรับโดยดี
ส่วนคดีหุ้น NPP เกิดขึ้นปี 2557 ซึ่งคณะกรรมการบริษัทฯได้มีมติเพิ่มทุนกว่า 544 ล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่ขายผู้ถือหุ้นเดิมและนักลงทุนเฉพาะเจาะจง รวมทั้งจัดสรรหุ้นใหม่เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ ปรากฏว่า
นายสุรพงษ์ซึ่งรู้ข้อมูลภายใน ได้ซื้อหุ้น NPP จำนวน 5.4 ล้านหุ้น ซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิแปลงสภาพหุ้นสามัญรุ่น 1 จำนวน 3.3 ล้านหน่วย ผ่านบัญชีนางสาวรินนภา และยังได้ชักชวนบุคคลอื่นซื้อหุ้นNPP ตามด้วย
ระหว่างปี 2551-2553 หุ้น NPP เคยมีคดีใหญ่มาแล้ว โดยอดีตประธานกรรมการถูกก.ล.ต.กล่าวโทษในความผิดยักยอกทรัพย์ของบริษัท ปลอมแปลงเอกสาร และกลางปี 2559 ศาลอาญาพิพากษาว่ามีความผิดจริง ถูกตัดสินลงโทษปรับเป็นเงินหลายล้านบาท รวมทั้งถูกตัดสินลงโทษถูกจำคุก 20 ปี
การก่อคดีอินไซด์ เป็นการตอกย้ำพฤติกรรมความผิดซ้ำซากของหุ้นตัวนี้
หุ้นNPPล่าสุดมีนักลงทุนรายย่อยกว่า 4 พันรายเข้าไป ”ติดกับ” และเจ็บหนักตามๆกัน เพราะมีการเพิ่มทุนสูบเงินถี่ ออกวอร์แร้นท์มากระตุ้นราคาหุ้นเป็นว่าเล่น แต่ผลดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่อง ขณะที่ราคาหุ้นทรุดตัวลงตั้งแต่ต้นปี
นายสุรพงษ์มีชื่อเสียงโด่งดัง ในฐานะนักลงทุนรายใหญ่จากหุ้นบริษัท ทราฟฟิกคอนเนอร์ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น TRAF ซึ่งเป็นหุ้นร้อน ข่าวลือเยอะ โดยนักลงทุนรายย่อยที่แห่เข้าไปเก็งกำไร ตายกันเป็นเบือมาแล้ว
หลังจากหุ้น TRAF หมดความร้อนแรง นายสุรพงษ์ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ขายหุ้นออก เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ โดยกลุ่มเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์เข้ามาครอบงำกิจการ และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด(มหาชน)หรือหุ้น MPIC
ช่วงปลายปี 2559 นายสุรพงษ์ตกเป็นข่าว ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด เจ้าของนิตยสาร A DAY ซึ่งบริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือหุ้นโพลาร์ ทำข้อตกลงซื้อหุ้นทั้งหมดในวงเงิน 308 ล้านบาท โดยจ่ายมัดจำล่วงหน้าไป 120 ล้านบาท
ต่อมาโพลาร์ประกาศยกเลิกข้อตกลง โดยผู้บริหารโพลาร์ยืนยันว่า จะได้รับเงินมัดจำ120 ล้านบาทคืน
ปัจจุบันหุ้นโพลาร์ยื่นศาลล้มละลายกลาง ขอฟื้นฟูกิจการแล้ว การประชุมผู้ถือหุ้นก็ยังมีปัญหาวุ่นวาย ถูกก.ล.ต.สั่งชี้แจงอยู่ โดยไม่มีใครรู้ชะตากรรมของเงินมัดจำซื้อ A DAY จำนวน 120 ล้านบาท
เพราะไม่มีข่าวว่า โพลาร์ได้รับเงินคืน และไม่มีความเคลื่อนไหวว่า ผู้บริหารโพลาร์คนไหนแสดงความกระตือรือร้นทวงเงินมัดจำคืนจากกลุ่มนายสุรพงษ์ หรือเงินก้อนนี้ กลายเป็นอ้อยเข้าปากช้างไปแล้ว
การจะลงทุนหุ้นสักตัวไม่ใช่เรื่องง่ายทีเดียว ต้องดูกันให้รอบด้าน ดูทั้งแนวโน้มธุรกิจ ดูแนวโน้มผลประกอบการ ดูประวัติตัวหุ้น และยังต้องดูพฤติกรรมผู้บริหารด้วย
หุ้น NPP เป็นกรณีตัวอย่าง ในอดีตผู้บริหารเคยก่อคดีใหญ่ สร้างความเสียหายนักลงทุนมาแล้ว และแม้โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่จะเปลี่ยนไป แต่ผู้บริหารคนใหม่ยังก่อพฤติกรรมการเอารัดเอาเปรียบนักลงทุนรายย่อยซ้ำรอยอีก
น่าเห็นใจรายย่อยที่หลวมตัวเข้าไป “ติด” หุ้น NPP จริงๆ