xs
xsm
sm
md
lg

“วิลาศ” โต้บิ๊ก รฟม.ให้ความจริงครึ่งเดียว ปมรถไฟฟ้าเอื้อเอกชน ฉะ สคร.ช่วยแถสุดมั่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อดีต ส.ส.ปชป.โต้ผู้บริหาร รฟม.ป้องโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเอื้อเอกชน ให้ความจริงครึ่งเดียว อ้างช่วยคงค่าโดยสาร 16-42 บาท แต่ไม่บอกเปิดช่องปรับราคาทุกสองปี ไม่แจงรายได้รัฐหาย 2 แสนล้าน สวน ผอ.สคร.สุดมั่วอ้าง กก.คุณธรรมประกันโครงการโปร่งใส ชี้เคยท้วงให้รวมสัญญา-แบ่งรายได้ที่ 9.75% แต่ไม่แก้ไข

วันนี้ (30 เม.ย.) นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป) แถลงตอบโต้คำชี้แจงของผู้บริหาร รฟม.ที่ออกมายืนยันว่าการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม บริษัทลูกของบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน 2 เส้นทาง คือ บางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 13 กิโลเมตร และหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 14 กิโลเมตร แทนที่รัฐบาลจะใช้วิธีประกวดราคานั้นเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องแล้วโดยอ้างว่าการตกลงกับเอกชนรายเดิมจะทำให้กำหนดราคาค่าโดยสารที่ 16-42 บาทได้นั้น เป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น เพราะหากประกวดราคาก็สามารถกำหนดในทีโออาร์ได้เช่นเดียวกัน อีกทั้งยังไม่ยอมพูดต่อว่าในสัญญาให้มีการปรับค่าโดยสารทุก 2 ปี จึงถือเป็นการพูดเอาแต่ความดี แต่ไม่พูดความจริงทั้งหมด

นอกจากนี้ ผู้บริหาร รฟม.ยังไม่สามารถชี้แจงกรณีที่รัฐจะเสียรายได้มหาศาลนับสองแสนล้านจากการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งเดิม รฟม.จะได้รับส่วนแบ่งตั้งแต่ปี 2559-2572 โดยปี 2559 ได้ส่วนแบ่ง 1 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 300-400 ล้านบาท ปี 2560 ได้ 2 เปอร์เซ็นต์ ปี 2563-2565 ได้ 5 เปอร์เซ็นต์ และปี 2566-2572 ได้ 15 เปอร์เซ็นต์ รวมเป็นเงินประมาณ 50,000 กว่าล้านบาท และหลังจากวันที่ 3 ก.ค. 2572 รถไฟฟ้าเส้นนี้จะตกเป็นของรัฐ ซึ่งแม้มีการจ้างคนมาบริหารก็จะต้องแบ่งรายได้ 15 เปอร์เซ็นต์ ทำให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีรายได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท และเมื่อสัญญาสิ้นสุดในปี 2592 รวมระยะเวลา 20 ปี รฟม.จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ประมาณ 200,000 ล้านบาท แต่เมื่อใช้วิธีเจรจาตกลงกับเอกชน แทนที่จะเปิดประมูล โดยให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ที่เป็นผู้เดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ได้เป็นผู้ดำเนินงานในส่วนต่อขยายดังกล่าวจะทำให้รัฐขาดรายได้จำนวนมหาศาลแต่ผู้บริหาร รฟม.กลับไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเหล่านี้ กลับชี้แจงแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์กับเอกชน จนตนสงสัยว่าคนเหล่านี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ เพราะพูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เอกชน

นายวิลาศยังตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ออกมาอ้างถึงคณะกรรมการข้อตกลงคุณธรรมมาเป็นหลักประกันการดำเนินโครงการนี้ว่าเป็นไปอย่างโปร่งใสและรอบคอบว่า เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่สอดคล้องกับความจริง เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการประเมินอิสระได้เคยทำหนังสือท้วงติงลงวันที่ 19 กันยายน 2559 โดยนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ระบุว่า คณะกรรมการประเมินอิสระในโครงการนี้แจ้งว่าไม่เห็นด้วยกับการรวมสัญญาและการแบ่งรายได้ 9.75% เพราะจะทำให้เกิดการตกแต่งบัญชีได้ แต่ก็ไม่มีการแก้ไขตามที่มีการเสนอ

“สคร.ปกติมีหน้าที่หลักคือพัฒนา เพิ่มพูนมูลค่ารัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ แต่คำตอบของท่านผมไม่รู้ว่าการทำสัญญาแบบนี้ทำให้ รฟม.รวยหรือเจ๊ง ที่อ้างว่าประชาชนได้ประโยชน์เพราะเดินรถต่อเนื่องประชาชนไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถ ถามว่าท่านไม่เคยดูงานต่างประเทศหรือว่าสายหนึ่งเขามีหลายบริษัทเดินรถต่อเนื่องได้ขึ้นอยู่กับการเขียนเงื่อนไขในการประกวดราคา ท่านเคยเป็นรอง ผอ.สำนักเศรษฐกิจการคลัง ไม่ทราบหรือว่ากระทรวงการคลังตั้งแต่ปี 53-58 ทำหนังสือหลายครั้งว่าควรให้มีการประกวดราคาแต่วันนี้มาเปลี่ยนเป็นเจรจากับรายเดิมแล้วมาบอกว่าเป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์สูงสุด” นายวิลาศกล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น