xs
xsm
sm
md
lg

สบน. แจง 8 เดือน แลกบอนด์ปรับโครงสร้างหนี้ 9 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สบน. แจงผลแลกบอนด์ปรับโครงสร้างหนี้ปีงบฯ 60 เมื่อถึงสิ้นเดือน มิ.ย. มีทั้งสิ้น 90,000 ล้านบาท ชี้บรรดานักลงทุนสถาบันไทย-เทศ สนใจทำ Bond Switching กับ สบน. สูงถึงกว่า 1 แสนล้านบาท

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ แถลงว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ดำเนินธุรกรรม Bond Switching ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2560 โดยดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ได้ครบตามวงเงินที่ประกาศ จำนวน 90,000 ล้านบาท

สำหรับการดำเนินธุรกรรม Bond Switching ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้ของพันธบัตรรัฐบาล เพิ่มสภาพคล่องของพันธบัตร และส่งเสริมการบริหารจัดการพอร์ตหนี้ของรัฐบาลให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุนในการเข้าร่วมทำธุรกรรม Bond Switching เป็นจำนวนมาก อาทิ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักงานประกันสังคม ธนาคารพาณิชย์ กองทุนรวม และบริษัทประกัน รวมถึงนักลงทุนสถาบันจากต่างประเทศ โดยมีวงเงินเสนอแลกรวมสูงกว่า 106,946 ล้านบาท ซึ่งทำให้ สบน. ลดยอดหนี้คงค้างของพันธบัตรรัฐบาลที่จะครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2562 (Source Bond) ทั้ง 4 รุ่นครบตามวงเงินที่กำหนดไว้ที่ 90,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สบน. ยังสามารถออกพันธบัตร Destination Bond ในรุ่นอายุที่ยาวกว่าทดแทน และสอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนทุกกลุ่มได้อย่างทั่วถึง ทั้งกลุ่มนักลงทุนระยะสั้นและระยะยาว จำนวน 5 รุ่น รวมเป็นวงเงิน 90,000 ล้านบาท ที่ปรึกษาตลาดตราสารหนี้กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการทำธุรกรรม Bond Switching ในครั้งนี้สามารถจำแนกเป็น 4 มิติ คือ ด้านการบริหารหนี้ สามารถลดความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้รัฐบาล และยืดอายุคงเหลือเฉลี่ยของ Source Bond จาก 1 ปี 8 เดือน เป็นอายุเฉลี่ย 25 ปี 2 เดือน ส่วนในด้านต้นทุนนั้น สามารถลดภาระต้นทุนเฉลี่ยของ Source Bond จากร้อยละ 4.01 ต่อปี เหลือร้อยละ 3.52 ต่อปี

ขณะที่การขยายฐานนักลงทุน การทำธุรกรรม Bond Switching ในครั้งนี้มีนักลงทุนเข้าร่วมทำธุรกรรมหลากหลายเพิ่มขึ้น ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ กองทุนต่าง ๆ ทั้งกองทุนภาครัฐและภาคเอกชน บริษัทประกันชีวิต และนักลงทุนต่างชาติทั้งจากเอเชียและยุโรป ส่วนด้านการเพิ่มสภาพคล่องนั้น การทำธุรกรรม Bond Switching ได้สร้างสภาพคล่องของพันธบัตรที่ใช้ในการสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในรุ่นที่มีการประมูล (On-the-run Benchmark Bond) จำนวน 4 รุ่น ได้แก่ รุ่นอายุ 5 ปี, 15 ปี, 30 ปี และ 50 ปี ซึ่งเป็นการเพิ่มวงเงินในการซื้อขายในตลาดรอง

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ผู้จัดจำหน่ายและจัดการการแลกเปลี่ยนพันธบัตร (ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน)) และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ร่วมกันพัฒนาธุรกรรม Bond Switching ในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการตอบรับสนับสนุนและความร่วมมือจากท่านในการดำเนินธุรกรรม Bond Switching ต่อไปในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น