เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ซื้อหนี้จากสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) มูลค่า 6,547 ลบ. เสริมรายได้ปีนี้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น “ปิยะ พงษ์อัชฌา” เผยหนี้ก้อนดังกล่าว คุณภาพดี และทำสัญญาล่วงหน้าซื้อหนี้เสียจากสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ต่อเนื่องอีก ดันเป้าปีนี้ซื้อหนี้เข้ามาบริหารเพิ่มอีก 3-5 หมื่น ลบ. มั่นใจไม่มีพลาดเป้า
นายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้ บริหารหนี้ด้อยคุณภาพระดับแนวหน้าของประเทศ ประกาศข่าวดี บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ลงนามซื้อหนี้ด้อยคุณภาพ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลกับธนาคาร สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) มูลค่า 6,547 ล้านบาท นับเป็นหนี้ก้อนใหญ่ และมีคุณภาพดี เป็นหนี้ค้างชำระ 6 เดือนขึ้นไป
ภายหลังซื้อหนี้ด้อยคุณภาพในครั้งนี้ ทางสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) มีข้อตกลงล่วงหน้าจะทยอยส่งมอบบัญชีหนี้ด้อยคุณภาพให้ JMT ต่อเนื่องอีก ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนรายได้ของ JMT ปีนี้ ให้มั่นคงแข็งแกร่ง
ภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพบว่าหนี้ที่ถูกตัดขายออกมามีคุณภาพมากขึ้น นับเป็นโอกาสของ JMT ในการเดินหน้าซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารเพิ่ม ตั้งเป้างบปี 2560 ไว้ที่ 1,560 ล้านบาท รองรับการเข้าซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารเพิ่มอีก 3-5 หมื่นล้านบาท จากปี 2559 ที่รับซื้อหนี้เสียเพียง 20,000 ล้านบาท และทำให้สิ้นปี 2559 มีพอร์ตบริหารหนี้แตะ 1.1 แสนล้านบาท มั่นใจผลประกอบการทั้งรายได้และกำไร จะเติบโตอย่างโดดเด่นในปีนี้อย่างแน่นอน วางเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 30% จากปีก่อน
“มองว่าหนี้ NPL ในระบบถูกสะสมมาเรื่อยๆ จากสถาบันการเงินต่างๆ ที่เร่งปล่อยสินเชื่อในไตรมาส 3-4 ปีที่ผ่านมา จะเริ่มดันหนี้เสียในระบบแตกออกมาในไตรมาส 2 ปีนี้เป็นต้นไป เราจึงตั้งเป้าซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารในปีนี้เพิ่มเป็น 3 หมื่นล้านบาท หรืออาจซื้อได้มากถึง 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงจากปี 59 JMT ตั้งเป้าซื้อหนี้เพียง 2 หมื่นล้านบาท” นายปิยะ กล่าว
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุก่อนหน้านี้ว่า ภาพรวมหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ทั้งระบบสถาบันการเงินมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 4/2559 อยู่ที่ 2.82% คาดว่าไตรมาสแรกปีนี้ NPL ไต่ระดับขึ้นมาอยู่ที่ 2.9% และจะเห็นเอ็นพีแอล ขึ้นระดับสูงสุดในไตรมาส 3/60 ที่ระดับ 3.01% ด้วยมูลค่าเอ็นพีแอล รวม 4.3 แสนล้านบาท จากไตรมาส 3/59 อยู่ที่ 3.9 แสนล้านบาท ภายใต้สมมุติฐานว่า เศรษฐกิจต้องขยายตัวต่อเนื่อง ถึงจะสามารถประคองไม่ให้สถานการณ์เอ็นพีแอล ทั้งระบบทรุดตัวลง แต่หากภาวะเศรษฐกิจไม่ดีขึ้นก็มีโอกาสที่เอ็นพีแอล จะเพิ่มขึ้นจากสมมุติฐานได้
หากพิจารณาแนวโน้มการตัดขายหนี้เสียของสถาบันการเงินให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ต่างๆ เชื่อว่า ปีนี้สถานการณ์การขายหนี้เสียไม่น่าจะต่ำกว่าปี 2559 ซึ่งธนาคารพาณิชย์นำหนี้เสียออกมาประมูลขายในตลาดราว 5 หมื่นล้านบาท เพราะธนาคารพาณิชย์ยังต้องบริหารหนี้ในเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าที่คาดว่า จะนำหนี้ออกมาประมูลขายใกล้เคียงกับปีก่อนที่ราว 5 หมื่นล้านบาท