xs
xsm
sm
md
lg

เหลียวหลัง มองอนาคตดัชนีตลาดทุนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผ่านไปแล้ว 6 เดือน ภาพการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. ไม่สดใสเท่าที่ควร เห็นได้จากดัชนีตลาดหุ้นไทย หรือ SET INDEX เคลื่อนไหวไม่ไกลไปจาก ดัชนีปิดตลาดเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 (วันทำการแรกของปี) ปรับเพิ่มขึ้น 20.64 จุด เปลี่ยนแปลง 1.34% (จากปลายปี 2559 ที่ดัชนีปิดตลาด 1,542 จุด) ดัชนีอยู่ที่ 1,563.58 จุด มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 65,154.67 ล้านบาท

ครึ่งแรกปี 2560 ดัชนีสามารถทำจุดสูงสุดได้ที่ 1,591 จุดเมื่อวันที่ 26 ม.ค.60 และปรับตัวลดต่ำสุด 1,535.51 จุด เมื่อวันที่ 13 มี.ค.60 ขณะที่อัตราผลตอบแทน 5 เดือนแรกของปี (มกราคม - พฤษภาคม) ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.4% ต่ำที่สุดในเอเชีย และหากเปรียบเทียบในประเทศกลุ่ม TIP ซึ่งประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปินส์ ตลาดหุ้นไทยมี P/E ที่ 15 เท่าซึ่งต่ำที่สุดในกลุ่ม โดยอินโดนีเซียสูงสุดที่ 16 เท่า และฟิลิปปินส์อยู่ที่ 18 เท่า

“กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ” นักวิเคราะห์กองทุนประจำประเทศไทย บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์ในรายการ “คุยคุ้ยหุ้น” ช่อง “นิวส์วัน” ดำเนินรายการโดย “สุนันท์ ศรีจันทรา” ระบุปัจจัยกดดันบรรยากาศการลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 หลักๆ คือ ปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะปัจจัยด้านการเมืองระหว่างประเทศ ที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหารประเทศ ผ่านการเลือกตั้งทั้งในสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศในยุโรป

“การที่สหรัฐอเมริการมีประธานธิบดีคนใหม่ ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างชะลอดูทิศทางการกำหนดนโยบายทางการค้า การลงทุน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่งประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด การปรับลดขนาดสินทรัพย์ในงบดุลของเฟด และเศรษฐกิจในยูโรโซน

       ด้านสถานการณ์ในประเทศเองก็ยังคงทรงตัว แม้รัฐบาล และภาคเอกชนจะเดินหน้ากระตุ้นการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่เม็ดเงินก็ยังลงไปไม่ทั่วถึง ซึ่งปัจจัยกระทบทั้งใน และนอกประเทศอาจกดดันจิตวิทยากการลงทุน ส่งผลให้นักลงทุน “ชะลอการลงทุน” รอดูปัจจัยบวกใหม่ๆ รวมทั้งเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทย หรือ SET Index เราครองแชมป์ผลตอบแทน “สูงสุด” ในอาเซียน มาปีนี้อาจจะลดความร้อนแรงลงมา แต่โดยรวมก็ยังสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีอยู่ โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นกลุ่ม ธ.พาณิชย์ ซึ่งครึ่งปีแรกนี้ให้ผลตอบแทนสูงถึง 10% เรียกว่าชนะ SET Index ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ประมาณ 3% (รวม มิ.ย.) ขณะที่การลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ เช่น SET 50 ก็ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 3% เช่นกัน

เมื่อเปรียบบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย กับบรรยากาศการลงทุนทั่วโลก “กิตติคุณ” ระบุบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งเอเชีย ทั้งตลาดหุ้นอินเดีย และตลาดหุ้นจีน ให้ผลตอบแทนสูงถึง 20% อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนใน “ระยะยาว” การลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังสร้างผลตอบแทนที่น่าประทับใจ จากสถิติย้อนหลัง 10 ปี ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 10% ในระยะ 5 ปีผ่านมา จากสถิติตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยระหว่าง 8-9% ยังคงสูงเป็นอันดับต้นๆ ในโลก

“ผมอยากเน้นให้นักลงทุนสนใจการลงทุนระยะยาวเป็นหลัก เพราะจะเห็นผลตอบแทนที่ชัดเจน ในต่างประเทศนักลงทุนรายย่อยจะเน้นการลงทุนผ่านกองทุนเป็นหลัก เพราะถือเป็นการลงทุนในระยะยาว และลดความเสี่ยงหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะระยะ 3-5 ปี ในต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมในต่างประเทศ เริ่มปรับลดอัตรา “ค่าธรรมเนียม” ลงโดยเฉพาะปี 2559 ที่ผ่านมานี่กระแสแรงมาก ณ เม็ดเงินไหลเข้ากองทุนที่คิดอัตราค่าธรรมเนียมต่ำอย่างมหาศาล จนผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมต้องพิจารณาปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมลงต่ำมาก ณ ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8% ทั้งนี้ อาจเกิดจากตลาดหุ้นในต่างประเทศไม่สามารถสร้างผลตอบแทนในอัตราสูงได้แล้ว เพราะมีขนาดใหญ่ และบรรยากาศการลงทุนเริ่มอิ่มตัว การปรับลดค่าธรรมเนียมทำให้ผู้ลงทุนได้ผลตอบแทนสูงขึ้นถือเป็นแรงจูงใจที่สำคัญ
     ขณะที่ตลาดทุนไทยยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงได้ ผู้บริหารกองทุนเก่งๆ ก็มีมากอย่างที่บอกว่าโดยเฉลี่ยอัตราผลตอบแทนระยะ 10 ปีนี่สูงถึง 10% การจ่ายค่าธรรมเนียมที่ 1.75-2% นักลงทุนจึงไม่รู้สึกว่าค่าธรรมเนียมสูงเกินไป จุดขายที่จะจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนจึงต่างกัน
 

ระยะเวลาที่เหลืออีกประมาณ 2 ไตรมาส นักวิเคราะห์กองทุนประจำประเทศไทย มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช ประเมินภาพรวมสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกยังไม่คลี่คลาย ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกยังคงผันผวน บรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนไทยก็น่าจะยังทรงตัวต่อเนื่องจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา “กิตติคุณ” จึงเน้นแนะนำให้นักลงทุนตั้งเป้าหมายผลตอบแทนที่คาดหวัง แล้วบริหารสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตให้เหมาะสม และยังคงเน้นไปที่การลงทุนระยะกลาง-ยาวเนื่องจากสามารถให้ผลตอบแทนที่มั่นคงกว่า

“ปัจจุบันกองทุนในประเทศไทยมีประมาณ 1,500 กองทุน ลักษณะสินค้าที่เข้าลงทุนก็มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่ลงทุนในพันธบัตร ซึ่งแม้จะให้ผลตอบแทนไม่สูงมากแต่ก็ยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ณ ปัจจุบันอย่างแน่นอน นักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยวได้ ก็อาจพิจารณากองทุนผสม กองทุนที่ลงทุนในดอลลาร์อินเด็กซ์ รวมถึงกองทุนระยะสั้นประมาณ 3-6 เดือน ซึ่งจากสถิติ 5 ปี ก็ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 4%

ผมไม่อยากให้นักลงทุน “วิ่งไล่ตาม” ผลตอบแทน ไม่อยากให้ปรับพอร์ตการลงทุนบ่อยๆ การวางเป้าหมายการลงทุนที่แน่นอน กำหนดอัตราผลตอบแทนที่ต้องการให้แน่ชัดก่อนการลงทุน จะเป็นการป้องกันความเสี่ยงได้เกือบ 90%”

การลงทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ในการพิจารณาประกอบการลงทุน คือ ESG Fund หรือ Sustainability : กองทุนเพื่อความยั่งยืน คือ กองทุนที่เน้นลงทุนในบริษัทที่มีการจัดการที่ดีใน 3 เรื่องหลักๆ ประกอบด้วย 1.E : Environmental สิ่งแวดล้อม 2. S : Social สังคม และ 3. G : Governance ธรรมาภิบาล ทั้งนี้ เมื่อนำองค์ประกอบทั้ง 3 มารวมเข้าด้วยกัน การลงทุนในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว หมายถึงนักลงทุน จะนำเงินเข้าไปลงทุนในหุ้นของกลุ่มบริษัทที่มีศักยภาพในการทำกำไร และยังมีธรรมาภิบาลอีกด้วย จึงเชื่อว่าจะเป็นการลงทุนที่ “มีความยั่งยืนในระยะยาว”
“เรื่องของการลงทุนแบบ ESG นี้ถือเป็นเรื่องระดับโลกที่กำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักลงทุนสถาบันทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา กำลังตื่นตัวเป็นอย่างมาก ในบริษัทถึงขึ้นประกาศลงทุนเฉพาะบริษัทที่มาการบริหารจัดการเรื่อง ESG เท่านั้น ขณะที่นักลงทุนรายย่อยก็เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ Millennials ก็เริ่มให้ความสนใจเรื่อง ESG มากเป็นพิเศษ
      อีกอย่างหนึ่งการลงทุนตามแบบแนว ESG นี้ยังถือได้ว่าเป็นการลดความเสี่ยงทางการลงทุนไปในตัวด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทมีการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาลเป็นอย่างดีแล้วนั้น โอกาสที่จะเกิดเรื่องฟ้องร้องต่างๆจนเกิดค่าใช้จ่าย ค่าปรับ ตลอดไปจนถึงทำให้ทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียงแล้วนั้นคงน้อยลง”

ปัจจุบันในประเทศไทยมีกองทุนประเภทกองทุน ESG ทั้งสิ้น 5 กองทุน โดยในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมจะตั้งกองทุน ESG เพิ่มขึ้น

“ดังที่อธิบายแล้วว่า ในต่างประเทศนักลงทุนตื่นตัวกับเรื่อง ESG มากเป็นพิเศษ บริษัทขนาดใหญ่อย่างกูเกิล แอปเปิ้ล บริษัทประกันขนาดใหญ่ เงินกองทุนมหาวิทยาลัยขนาดมใหญ่ทุกแห่ง ธนาคารทุกธนาคารที่ต้องทำหน้าที่ขายกองทุนต่างแสดงความประสงค์จะเข้าลงทุนในกองทุน หรือบริษัทที่มี ESG เท่านั้น ดังนั้น บริษัทจดทะเบียนเองก็ต้องปรับตัว และการพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่จะนำเข้ามารวมตั้งเป็นกองทุน ESG ก็เป็นไปอย่างเข้มข้น เขามีนักวิเคราะห์เข้าไปสำรวจอย่างชัดเจน มีรายการการสำรวจอย่างต่อเนื่อง ในประเทศไทยก็คงต้องปรับตัวเพราะหากต้องการดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เขากำหนด

และถึงแม้ว่าจะเริ่มต้นได้กับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการดำเนินงานด้าน ESG แต่ในอนาคต บริษัทที่เข้าจดทะเบียนก็ต้องปรับตัว เพราะผู้บริหารก็ต้องตระหนัก และอยากมีชื่อบริษัทตนเองในกองทุนเหล่านั้นบ้าง

     ปัจจุบันก็มีสถาบันไทยพัฒน์ เป็นหน่วยงานที่จัดอันดับ ESG ในประเทศไทย ซึ่งก็มีเกณฑ์ในการดำเนินงานระดับหนึ่ง คาดว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงิน ตลาดทุนก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ และเริ่มตระหนัก และดำเนินงานให้ถึงเกณฑ์ ESG

กำลังโหลดความคิดเห็น