ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง เผยโรงไฟฟ้าชีวมวล “พัทลุง กรีน เพาเวอร์” ขนาดกำลังการผลิตเสนอขายไฟฟ้า 9.2 เมกะวัตต์ เดินเครื่องจ่ายไฟเข้าระบบในเชิงพาณิชย์แล้ว รับรู้รายได้ไตรมาส 3/60 ผู้บริหารหญิงแกร่ง “กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี” ระบุช่วยหนุนรายได้เพิ่มขึ้น ปูทางกำลังการผลิตขึ้นแท่นแตะ 200 เมกะวัตต์ ภายในปี 63 ใกล้แค่เอื้อม ส่งซิกครึ่งปีหลัง จ่อ COD เพิ่มอีก 1 แห่ง ติดโผหลักทรัพย์จดทะเบียนที่โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าชีวมวล พัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP) ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าเสนอขาย 9.2 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ตำบลป่าบอน อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ขณะนี้เดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าได้เรียบร้อย และเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 3/2560 ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เดินเครื่องจ่ายไฟในปัจจุบันรวมจำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ (CRB), โรงไฟฟ้าชีวมวลแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ (MWE), โรงไฟฟ้าชีวมวลมหาชัย กรีน เพาเวอร์ (MGP) โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน (TSG) และโรงไฟฟ้าชีวมวล พัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP)
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในปัจจุบันมีจำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล ปัตตานี กรีน (PTG), โรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 1 (TPCH1), โรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 2 (TPCH2), โรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 5 (TPCH5) และโครงการโรงไฟฟ้าขยะ จำนวน 1 โครงการ คือ โรงไฟฟ้า สยาม พาวเวอร์ (SP) กำลังการผลิตรวม 59 เมกะวัตต์
“นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของ TPCH ที่โรงไฟฟ้าชีวมวล พัทลุง กรีน เพาเวอร์ เดินเครื่องจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ได้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทำให้กำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นเป็น 50 เมกะวัตต์ และทำให้มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 119 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีนโยบายเปิดประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน SPP-Hibrid Firm กำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ และ VSPPSemi Firm กำลังการผลิต 289 เมกะวัตต์ในปีนี้ ส่งผลดีต่อกลุ่มโรงไฟฟ้าชีวมวล และเป็นโอกาสของบริษัทฯ ที่จะได้เข้าประมูลงาน ช่วยผลักดันให้สามารถดำเนินงานได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ มีกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าชีวมวล จำนวน 200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2563 โรงไฟฟ้าชีวมวล สตูล กรีน เพาเวอร์ (SGP) ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างนั้น คาดว่าจะเสร็จเรียบร้อย และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในไตรมาส 3/2560” นางกนกทิพย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม TPCH ยังได้รับคัดเลือกจากสถาบันไทยพัฒน์ให้เป็นบริษัทที่โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG 100) ประจำปี 2560 ซึ่งเราได้รับรางวัลนี้เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2559 โดยการประเมินในปีนี้สถาบันไทยพัฒน์ยังคงใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล ESG แบบบูรณาการที่ผนวกเข้ากับข้อมูลทางการเงินที่เรียกว่า Integrated ESG Assessment เพื่อให้สะท้อนผลตอบแทนการลงทุน หรือตัวเลขผลประกอบการ ที่สัมพันธ์กับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของบริษัท เพื่อให้ผู้ลงทุนใช้เป็นตัวเลือกในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าเม็ดเงินกำไร และมิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป ซึ่งผลแห่งการประเมินเป็นที่ยอมรับได้ในมาตรฐานระดับสากล
“บริษัทฯ รู้สึกยินดี และภูมิใจที่ได้รับคัดเลือกจากสถาบันไทยพัฒน์ให้ติด 1 ในหุ้น ESG100 ซึ่งเกณฑ์คัดเลือกเบื้องต้นจากบริษัททั้งหมด 656 บริษัท ไม่รวมหลักทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟู บริษัทมีกำไรติดต่อกัน 2 รอบปีบัญชีล่าสุด เกณฑ์การปลดจากการกระทำความผิด บริษัทคณะกรรมการ หรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัทไม่ถูก ก.ล.ต. กล่าวโทษ หรือเปรียบเทียบปรับในรอบปีประเมิน และเกณฑ์การกระจายการถือหุ้น โดยผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัทเป็นไปตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด TPCH ก็ติดในหุ้นที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว บริษัทฯ จะรักษามาตรฐานและดำเนินงานโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่บริษัทฯ และผู้ถือหุ้นจะได้รับ” นางกนกทิพย์ กล่าว