xs
xsm
sm
md
lg

PwC คาดธุรกิจบริการทางการเงินทั่วโลกเล็งดึงพันธมิตรฟินเทคร่วมทัพมากขึ้น เหตุ 88% หวั่นสูญเสียรายได้ให้ผู้คิดค้นนวัตกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แนวโน้มอนาคตผู้ให้บริการด้านการเงินทั่วโลกมากกว่า 4 ใน 5 (82%) ของธุรกิจบริการทางการเงิน มีแผนที่จะหาพันธมิตรฟินเทคเพิ่มมากขึ้นใน 3-5 ปีข้างหน้า โดย 88% กังวลจะสูญเสียรายได้ให้แก่บริษัทฟินเทคที่ดำเนินธุรกิจแบบสแตนด์อะโลน ขณะที่เกือบ 1 ใน 4 (24%) ของรายได้ธุรกิจบริการทางการเงินทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยง บริษัททางการเงินคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนจากโครงการที่เกี่ยวข้องต่อฟินเทคที่ 20% โดยเฉลี่ย ข้อมูลอ้างอิงจาก DeNovo platform ของ PwC ระบุว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ฟินเทคสตาร์ทอัปทั่วโลกเห็นเม็ดเงินลงทุนสะสมสูงถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์

PwC เผยผลสำรวจล่าสุดของ Redrawing the lines : FinTech’s growing influence on Financial Services พบว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันภัย และผู้จัดการด้านการลงทุนทั่วโลกส่วนใหญ่มีแผนที่จะจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทฟินเทคมากขึ้นภายใน 3-5 ปีข้างหน้า พร้อมคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยต่อโครงการที่ 20%

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวทำการสำรวจกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการทางการเงินกว่า 1,300 รายทั่วโลก โดยผลสำรวจแสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่ชัดเจนของอุตสาหกรรมการเงินที่ต่างหันมาให้ความสำคัญต่อนวัตกรรมมากขึ้น โดยสาเหตุหลักของการตื่นตัวในการหาพันธมิตรฟินเทคเพิ่มขึ้น เนื่องจากความกังวลในการสูญเสียรายได้ให้แก่บรรดาบริษัทฟินเทคที่ดำเนินธุรกิจแบบสแตนด์อะโลน โดย 88% ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่า ฟินเทคเป็นภัยคุกคามที่แท้จริงต่อธุรกิจของพวกเขา (เปรียบเทียบกับ 83% เมื่อปีก่อน) ขณะที่ 24% ของรายได้ธุรกิจบริการทางการเงินทั่วโลกกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากการเข้ามาของฟินเทค

ด้วยเหตุนี้ กระแสของการจับมือเป็นพันธมิตรระหว่างบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินกับบริษัทฟินเทคจึงเกิดขึ้น โดยฟินเทคสตาร์ทอัปต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และฐานลูกค้าจากการเป็นพันธมิตรกับบริษัททางการเงินขนาดใหญ่ ในขณะเดียวกัน บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินเหล่านี้ก็เริ่มมีความเข้าใจที่ดีขึ้นว่า ฟินเทคจะสามารถเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาทางเทคโนโลยีในรูปแบบเดิมๆ รวมทั้งแก้ปัญหาการสื่อสารกับลูกค้าที่ไม่มีประสิทธิภาพให้หมดไป

นายมาโนจ คาชยัพ หัวหน้าสายงานโกลบอลฟินเทค ของ PwC กล่าวว่า การร่วมมือกับฟินเทค และประยุกต์ใช้นวัตกรรมต่างๆ ของภาคธุรกิจการเงิน ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันตามกระแส แต่เป็นการมองหาวิธีที่ดีที่สุด และมีประสิทธิภาพที่สุดในการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ และเพิ่มศักยภาพในการบริการให้แก่ลูกค้า การที่สถาบันการเงินทำงานใกล้ชิดกับผู้คิดค้น และพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น ย่อมส่งผลทำให้ลูกค้ารู้สึกได้ถึงประโยชน์ที่ตามมา จากที่เคยมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย และความไม่พึงพอใจต่อบริการของธนาคาร บริษัทประกันภัย และผู้จัดการกองทุน ปัจจุบัน ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ก็เริ่มลดน้อยลง เพราะมีการปรับปรุงบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ ก็ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้ามากขึ้นด้วย

พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส

รายงานยังระบุว่า การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับฟินเทคจะเป็นกุญแจสำคัญที่เปิดโอกาสให้บริษัททางการเงินสามารถยกงานด้านการวิจัยและพัฒนา (Research and Development : R&D) บางส่วนให้แก่บริษัทภายนอกที่รับผิดชอบโดยตรงดูแล ทำให้มีเวลามาสนใจต่อการนำกลยุทธ์มาบริหารธุรกิจได้ดีขึ้น และช่วยให้การคิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ทำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ บริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile money services) กำลังกลายเป็นช่องทางให้กลุ่มลูกค้าประชาชนที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคาร สามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น โดย PwC คาดว่า เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยเพิ่มลูกค้าใหม่ให้อุตสาหกรรมการชำระเงินเป็นมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์

ข้อมูลของ DeNovo ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของ PwC ระบุว่า สตาร์ทอัปที่มีการนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) มาประยุกต์ใช้ กำลังได้รับเงินสนับสนุนอย่างกว้างขวาง โดยในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนทางการเงินทางด้านนี้แล้วกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี รายงานยังระบุด้วยว่า ในอนาคตจะเริ่มเห็นธนาคาร ผู้จัดการกองทุน และบริษัทประกันภัย นำเอไอ และเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Data and analytics tools) ต่างๆ มาใช้โต้ตอบกับลูกค้า และช่วยแนะนำการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น

บล็อกเชนไม่ได้อยู่เฉพาะในห้องทดลองอีกต่อไป

77% ของบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินทั่วโลกมีแผนนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้กับระบบภายในปี 2563 โดยเงินลงทุนในบริษัทบล็อกเชนทั่วโลกในปี 2559 โต 79% จากปีก่อนที่ 450 ล้านดอลลาร์ 24% ของสถาบันการเงินทั่วโลก ระบุว่า ขณะนี้พวกเขาคุ้นเคยต่อเทคโนโลยีบล็อกเชนมากถึงมากที่สุด

รายงานระบุชัดว่า บล็อกเชน ได้ถูกนำมาใช้ในภาคธุรกิจอย่างจริงจังมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และกำลังจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ไกลตัวอีกต่อไป ด้วยจุดเด่นของบล็อกเชนที่ช่วยลดต้นทุนการทำงานของระบบหลังบ้าน และมีความโปร่งใส จะทำให้เทคโนโลยีนี้เป็นที่ยอมรับ และได้รับเงินทุนสนับสนุนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ในขณะที่บริษัททางการเงินต่างเตรียมความพร้อม และพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรไปสู่การเติบโตในอนาคต

ผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนจะถูกนำมาใช้มากที่สุดในกรณีของการชำระเงิน การโอนเงิน และการจัดการข้อมูลประจำตัวแบบดิจิทัล ขณะที่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในแต่ละสถานที่ เช่น ผู้ตอบแบบสอบถามจากสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านการโอนเงินน่าจะเป็นกรณีของการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้มากที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนที่ก้าวหน้าไปมากทางด้านนี้ของสหรัฐฯ

ด้าน นายสตีฟ เดวี่ส์ หัวหน้าสายงานฟินเทค ประจำภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ของ PwC กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจบริการทางการเงินได้นำฟินเทคเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนและพัฒนานวัตกรรมทางการเงินอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นพันธมิตรกับฟินเทคสตาร์ทอัป การให้เงินทุนสนับสนุนเพื่อบ่มเพาะเทคโนโลยีภายในองค์กร และการพัฒนาโซลูชันใหม่ๆ เพื่อทดลองระบบการใช้งานในส่วนต่างๆ เช่น บล็อกเชน เป็นต้น ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืนนี้กำลังเป็นที่ต้องการ โดยจะส่งผลดีต่อทั้งตัวบริษัท และลูกค้าในที่สุด
 
“ความท้าทายของการประยุกต์ใช้ฟินเทคยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความกดดันในเรื่องของเวลากว่าที่ไอเดียใหม่ๆ จะตกผลึกและนำมาใช้ให้เกิดผล รวมไปถึงความคาดหวังของบริษัททางการเงินจากการทำงานร่วมกับฟินเทคสตาร์ทอัป นอกจากนี้ การบริหารความคาดหวังเกี่ยวกับผลตอบแทนก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรที่กำลังเผชิญต่อแรงกดดันทางด้านต้นทุน ซึ่งการประยุกต์ใช้ฟินเทค เป็นทั้งเรื่องของการคิดค้นรูปแบบการทำงาน และการแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่างๆ และการนำเทคโนโลยีใหม่นั้นมาใช้”

ขณะที่ น.ส.วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันธุรกิจบริการทางการเงินของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงิน กำลังตื่นตัวในการนำฟินเทคมาใช้ในธุรกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งเวลานี้ธนาคารหลายแห่งมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเอาเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้คัดแยก และจัดเก็บข้อมูลสัญญาต่างๆ รวมถึงการพิสูจน์ตัวตน และความถูกต้อง เพื่อช่วยลดต้นทุน และความเสี่ยง เพิ่มความปลอดภัยในการจัดการเอกสารอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยและพัฒนาระบบอัตโนมัติ หรือระบบออโตเมชัน อย่างเอไอ และหุ่นยนต์ มาใช้ทำงานควบคู่ไปกับแรงงานมนุษย์ ซึ่งคาดว่า 3-5 ปีข้างหน้า จะเห็นเทคโนโลยีดังกล่าวในระบบธนาคารของบ้านเราอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น