“ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง” คาดคขายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปีนี้ได้อีกอย่างน้อย 20 เมกะวัตต์ ดันรายไดและกำไรโตต่อเนื่อง ตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2563
นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) กล่าวว่า บริษัทฯ ประเมินรายได้และกำไรสุทธิในปี 2560 เติบโตสูงสุดต่อเนื่อง จากปีก่อน ซึ่งมีรายได้ที่ 716.76 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 201.17 ล้านบาท โดยเป็นไปตามการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ที่จะเริ่มขายไฟฟ้าอีก 20 เมกะวัตต์ในเร็วๆ นี้ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลพัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP) และโรงไฟฟ้าชีวมวล สตูล กรีน เพาเวอร์ (SGP) ที่คาดจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในไตรมาส 2/2560 และไตรมาส 3/2560 ตามลำดับ จากปีก่อนมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้แล้ว จำนวน 40 เมกะวัตต์ ทำให้ทั้งปีบริษัทฯ จะมีการ COD รวม 60 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2560 จะดีกว่าไตรมาสแรกที่ผ่านมา และดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้เพิ่ม ในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลพัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP) กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทฯ ก็เตรียมเข้าประมูลงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน SPP-Hibrid Frim 300 เมกะวัตต์ และ VSPP-Semi Firm 289 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตรวม 589 เมกะวัตต์ โดยมองว่า ทางภาครัฐเตรียมที่จะเปิดประมูลในส่วนของ SPP-Hibrid Firm ก่อน ภายในช่วงไตรมาส 3/2560 ซึ่งบริษัทฯ วางแผนท่จะเข้าร่วมประมูลพร้อมกับพันธมิตร โดยปัจจุบัน บริษัทได้มีการเจรจาร่วมกับพันธมิตร 2-3 ราย และคาดว่าจะสามารถสรุปได้ก่อนการเปิดประมูลดังกล่าว ทำให้สามารถผลักดันกำลังการผลิตให้เพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 200 เมกะวัตต์ ในปี 2563 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตในมือแล้ว 120 เมกะวัตต์
“บริษัทฯ มีเงินลงทุนที่เพียงพอ เนื่องจากยังมีเงินที่ได้จากการระดมทุน IPO จำนวนกว่า 1,100 พันล้านบาท ทำให้สามารถรองรับการพัฒนาโครงการได้มากถึง 150 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมีหนี้สินต่อทุนที่ต่ำ D/E อยู่ที่ 1 เท่า ทำให้สามารถกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นได้อีก 2 เท่า หรือประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท”
นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ซึ่งบริษัทฯ อยู่ระหว่างเตรียมยื่นเอกสารคำร้อง และข้อเสนอขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชน กำลังการผลิตติดตั้ง 10 เมกะวัตต์ แก่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่คาดจะมีการเปิดรับเรื่องในเร็วๆ นี้ โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายจะมีโรงไฟฟ้าขยะชุมชน กำลังการผลิตรวม 50 เมกะวัตต์ ภายในปี 2563 ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำใน สปป.ลาว ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงนาม MOU กับรัฐบาล สปป.ลาว โดยอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำ เสบั้งเหียน 1 แขวน จ.สะหวันนะเขต สปป.ลาว ขนาดกำลังการผลิตจำนวน 52.10 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสรุปรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการได้ราวเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งหากมีการลงทุน คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 55-65 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์
นอกจากนี้ โครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาในปัจจุบันมีจำนวน 59 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ปัตตานี กรีน (PTG) คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ในไตรมาส 1/62,โรงไฟฟ้าชีวมวลทีพีซีเอช เพาเวอร์ 1 จ.ยะลา (TPCH1), โรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 2 จ.ยะลา (TPCH2), โรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 5 จ.นาราธิวาส (TPCH5) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นแบบคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า (ร.ง.3) คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ในปี 61 และโครงการโรงไฟฟ้าขยะ จำนวน 1 โครงการ คือ โรงไฟฟ้า สยาม พาวเวอร์ (SP) คาดจะจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ภายในปี 62
“บริษัทฯ จะสามารถ COD ได้เพิ่มอีก 20 เมกะวัตต์ ภายในปีนี้ จากปัจจุบันมีการ COD ได้แล้ว 40 เมกะวัตต์ และน่าจะ COD ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2561 และ 2562 โดยปี 2561 จะ COD ได้เพิ่มอีก 30 เมกะวัตต์ รวมเป็น 90 เมกะวัตต์ และในปี 2562 ก็จะ COD ได้เพิ่มอีก 30 เมกะวัตต์ รวมเป็น 120 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทฯ ยังคงเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 200 เมกะวัตต์ ในปี 2563”