โบรกฯ ชี้ทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นไทย “ปีระกา 2560” เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงสูงจากปัจจัยต่างประเทศ เหตุเฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยขึ้นสูงแตะ 0.75% แนะจับตาท่าทีนโยบาย “โดนัลด์ ทรัมป์” สร้างแรงกระเพื่อม ส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน
นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงภาพรวมการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปี พ.ศ.2560 ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในตลาดหุ้นไทยปีนี้มองว่าจะเป็นไปในเชิงบวกเนื่องจาก ภาพรวมตลาดหุ้นจะเคลื่อนไหวตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจโลกมีการปรับฟื้นตัวตามวัฏจักรโดยปกติอยู่แล้ว หลังจากที่มีการซบเซามาก่อนหน้านี้ ซึ่งหากไม่มีการชะลอตัว หรือหดตัวอย่างรุนแรงอีกรอบ ก็จะเป็นไปตามธรรมชาติที่จะค่อยๆ ปรับตัวขึ้น โดยพิจารณาจากประเทศที่เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการปรับฟื้นตัวได้ดี ในขณะที่กลุ่มประเทศยุโรปนั้นมีปัญหาอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าปัญหาที่มีอยู่นั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียอยู่บ้าง แต่เป็นระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งไม่มีผลกระทบร้ายแรงที่จะทำให้เกิดภาวะชะงักงานต่อเศรษฐกิจโลกได้ ในขณะที่ประเทศจีน สามารถทรงตัวอยู่ได้ไม่ได้ร้อนแรง แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาชะลอตัวหนักๆ
อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยในปี พ.ศ.2560 ได้ผ่านวิกฤตของเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2559 ที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งคาดว่าน่าจะโตตามปัจจัยบวกที่มีต่อการลงทุนในตลาดหุ้นต่างๆ ทั่วโลก ประกอบกับในช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีแรงกระตุ้นการลงทุนจากการประมูลงานของโครงการนโยบายภาครัฐ จำนวนมาก ซึ่งมองว่าในไตรมาสแรกจนถึงปลายปี จะได้เห็นงานก่อสร้างของรถไฟฟ้าในเส้นทางต่างๆ ตลอดจนถึงรถไฟทางคู่ และโครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 และมีโครงการขนาดใหญ่อื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกันอีกหลายโครงการ นอกจากนี้ ภาคเอกชนเองที่มีการเลื่อนโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์จากไตรมาส 4 ปี พ.ศ.2559 ออกไป ก็จะเริ่มเห็นโครงการก่อสร้างต่างๆ จำนวนมาก และกระจุกตัวอยู่ตลอดทั้งปี 2560 ในขณะที่ภาคการบริโภคจะมีแรงกระตุ้นเรื่องของฐานภาษีที่ลดลง อีกทั้งนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลที่ผ่านมา ได้มีการผ่อนชำระหนี้ และดอกเบี้ยต่างๆ จะมีการสิ้นสุดลง ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ซื้อรถยนต์ในโครงการดังกล่าวสามารถขายรถยนต์ออกไปได้ตามเงื่อนไขสัญญาที่รัฐบาลระบุไว้ ส่งผลให้ตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์กลับมามีความคึกคักมากขึ้น มีการออกโปรโมชันของค่ายรถยนต์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นตลาดรถยนต์ ทั้งรถยนต์มือหนึ่ง และรถยนต์มือสอง
ขณะที่ในส่วนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มว่าน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ สินค้ากลุ่มพลังงาน เช่น น้ำมัน ก็จะมีการปรับตัวทางด้านราคาขึ้นมา ซึ่งกลุ่มบริษัทส่งออกน้ำมันของไทยก็คาดว่าจะได้อานิสงส์จากส่งออก แต่อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางของการปรับตัวขึ้นก็จะมีความเสี่ยงต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ปัญหาเรื่องยุโรปที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในเรื่องของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดเป็นรอบๆ ไป ซึ่งอาจจะทำให้ตลาดหุ้นมีความกังวล และมีการปรับฐานลงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
“การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทยไม่ได้ทะยานอย่างมีความสดใสเท่าไหร่ หรือเป็นการปรับตัวขึ้นที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบนั่นเอง อีกทั้งตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา เทียบกับตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลกซึ่งพิจารณาเทียบกับ P/E แล้วถือว่าไม่ได้มีราคาถูก โดยการปรับตัวขึ้นสูงมากๆ คงเป็นไปด้วยความยากลำบาก”
อย่างไรก็ตาม มองว่าเป้าดัชนี Set Index ในปีนี้นั้นพื้นฐานประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ 1,540 จุด ซึ่งหากมีการปรับตัวขึ้นก็จะอยู่ที่ไม่เกิน 1,600 จุด ขณะที่หากมีการปรับตัวลดลงมามาก คาดว่าจะเคลื่อนใหวลงมาแตะที่กรอบ 1,400 จุด ซึ่งถือว่าช่วงระยะห่างของระหว่างกรอบดัชนี มีการแกว่งตัวที่รุนแรง
ทั้งนี้ ในส่วนของหุ้นที่คาดว่าจะมีศักยภาพโดดเด่นการลงทุนปีนี้ แบ่งการพิจารณาเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.หุ้นกลุ่มพลังงาน เช่น PTT, PTTEP, BANPU เนื่องจากผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและภาวะเงินเฟ้ออยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งหุ้นกลุ่มพลังงานมักจะตอบสนองต่ออานิสงส์ของภาวะเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดี 2.หุ้นกลุ่มใหญ่ที่มีความโดดเด่นชัดเจน ได้แก่ หุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน เช่น SCB, TISCO, BLA เนื่องจากเป็นหุ้นกลุ่มที่ยังไม่มีราคาปรับตัวขึ้นสูงมากหากพิจารณาตามค่า P/E เฉลี่ยอยู่ที่ 9-10 เท่า PB/V เฉลี่ยอยู่ที่ 1 เท่า ซึ่งหากเทียบกับในอดีตถือว่ามีราคาถูกลงมาก และปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการที่การปรับตัวฟื้นขึ้นของเศรษฐกิจโลก ทำให้ภาวะเศรษฐกิจในไทยปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ความกังวลต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL มีความผ่อนคลายลดลง อีกทั้งดอกเบี้ยขาขึ้นก็เป็นประโยชน์โดยตรงต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทำให้มีการบริหารส่วนต่างของดอกเบี้ยรายรับได้มีประสิทธิภาพดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ เช่น หุ้นกลุ่มค้าปลีก ได้แก่ CPALL, CPN, HMPRO ซึ่งแม้ว่าขณะนี้จะมีราคาค่อนข้างแพง แต่หากมีการปรับฐานลงมาก็ถือว่ามีความน่าสนใจในการกลับเข้าไปลงทุน เนื่องจากได้ประโยชน์จากการบริโภคในประเทศที่ดีขึ้น
ในขณะที่หุ้นขนาดเล็กที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ ได้แก่ BEAUTY, MEGA ด้านกลุ่มรับเหมาก่อสร้างซึ่งได้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐในระยะยาวเพราะว่าเป็นตัวที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากงานก่อสร้างที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ได้แก่ CK, STEC ซึ่งมีงานสะสมในมืออยู่เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน หุ้นขนาดเล็กที่ได้รับอานิสงส์ตรงนี้ด้วย ได้แก่ SEAFCO, PYLON
ส่วนหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องต่อพลังงานทดแทน เช่น GUNKUL, TPCH ก็คาดว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นจากการส่งเสริมของรัฐบาล อีกทั้ง GLOW, SPCG ก็เป็นหุ้นที่มีการปันผลดีในการเข้าสะสมระยะยาว ขณะที่หุ้นที่มีความน่าสนใจอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ หุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและบริการ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่ได้รับอานิสงส์จากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ ส่วนหุ้นที่ไม่น่าลงทุน ได้แก่ หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลซึ่งมีการปรับตัวขึ้นในราคาที่สูงมากแล้ว
“eps growth คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 6% บนเป้าหมาย SET INDEX ที่ 15 เท่า และกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ 107 บาท/หุ้น”
ด้าน นายณัฐชาติ เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ทรีนิตี้ จำกัด กล่าวว่าภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในปี พ.ศ.2560 นั้นมองว่าจะมีการไหลกลับของเงินทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ กลับเข้าไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วมากขึ้น ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วคงหนีไม่พ้นประเทศสหรัฐอเมริกา จากกรณีการได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของนายโดนัล ทรัมป์ ที่จะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะต่างๆ ค่อนข้างมาก รวมไปถึงมาตรการจูงใจทางด้านภาษีด้วย ซึ่งมาตรการภาษีที่จะได้เห็นเป็นอันดับแรก ได้แก่ มาตรการลดหย่อนภาษีคนรวย การปรับลดภาษีองค์กร การปรับลดภาษีเงินโอนจากต่างประเทศที่กลับเข้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจจะโดนจัดเก็บภาษีน้อยลง โดยมาตรการต่างๆ เหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นทำให้เม็ดเงินไหลกลับเข้าสู่สหรัฐฯ มากขึ้น
เพราะฉะนั้นเม็ดเงินที่ไหลออกเคยเข้ามาประเทศเกิดใหม่ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ Lerman Crisis ปี 2009-2010 เป็นต้นมา มองว่าจะเริ่มมีการปรับทิศกลับไปสู่ Develop market มากขึ้นได้ ซึ่งถือเป็นธีมหลักที่จะเกิดขึ้น
ในขณะที่ส่วนของค่าเงินเองนั้นดอลลาร์สหรัฐ จะมีการปรับค่าแข็งตัวขึ้นต่อเนื่องไปอีก เมื่อเปรียบเทียบกับสกุลค่าเงินอื่นๆ ในทวีปเอเชีย แม้แต่ประเทศเกิดใหม่เองก็ตาม
ทั้งนี้ ในส่วนของทองคำแบ่งมุมมองออกได้เป็น 2 อย่าง คือ ถ้าหากดอลลาร์สหรัฐ มีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นก็จะทำให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง และกลุ่มคอมมูนิตีก็จะปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ไม่นับรวมการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ที่ได้แถลงข่าวออกไปและจะมีการปรับมุมมองขึ้นอีกเล็กน้อยในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยปี 2560 อีกอย่างน้อย 2 ครั้ง และอาจมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเป็น 3 ครั้ง จากมุมมองจากนักวิเคราะห์ในหลายๆ สำนัก
“อย่างไรก็ตาม ที่ลักษณะของทองคำมีความพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ โดยปกติจะเป็นสินทรัพย์ที่สามารถปกป้องการปรับตัวสูงขึ้นของเงินเฟ้อได้ เพราะฉะนั้นถ้าสมมติว่าการเข้ามาของ นายโดนัล ทรัมป์ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศสหรัฐอเมริกาปรับตัวคืนขึ้นมาได้ มองว่าจะสามารถเป็นปัจจัยสำคัญ ช่วยพยุงราคาทองคำขึ้นมาด้วยเช่นกัน”
แต่กระนั้นมองว่าราคาทองคำในปี 2560 จะมีลักษณะแกว่งตัวต่อไปจากการปรับตัวลงมารอบล่าสุดเกิดขึ้นจากนักลงทุนมีความกังวลในเรื่องของการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ไปมากแล้ว ซึ่งถ้าหากว่าในปีหน้าเฟดไม่ได้มีอะไรที่มาสร้างความ surprise เรื่องดอกเบี้ยแล้ว มองว่าราคาทองคำจะไม่ปรับตัวลดลงไปมากกว่านี้แล้ว
“การปรับตัวลดลงของราคาทองคำมากกว่า 200 เหรียญ/ทรอยออนซ์ ในปี 2559 ที่ผ่านมานี้ ถือว่าเป็นระดับที่เยอะเหมือนกันในการปรับตัวลดลงมาแล้ว ขณะที่พื้นฐานของทองคำอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของการถือครองของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก ตรงนี้ทุกคนบอกว่าดอลลาร์สหรัฐจะมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นในรอบถัดไป ซึ่งธนาคารกลางใหญ่ใหญ่ทั่วโลกมองว่าอาจจะมีการปรับเปลี่ยนจากการถือทองคำดั้งเดิมเป็นการเข้ามาถือดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น โดยในปีนี้คาดว่าราคาทองคำจะไม่ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1,100 เหรียญ/ทรอยออนซ์ จากจุดต่ำสุดเดิมที่เคยได้ทำไว้ซึ่งอยู่ที่ 1,050 เหรียญ/ทรอยออนซ์ หากทองคำลงมาอยู่ที่ระดับ 1,100 เหรียญต่อทรอยออนซ์ ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาในการเข้าไปสะสมระยะยาวได้เหมือนกัน”
อย่างไรก็ดี สิ่งที่นักลงทุนจะต้องพิจารณา ได้แก่ ปัจจัยในประเทศ โดยประเด็นที่เกิดขึ้นล่าสุดจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ การลดหย่อนภาษีที่ออกมากระตุ้นการจับจ่ายในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ข้อดีของมันก็คือ เป็นการกระตุ้นระยะสั้น แต่ข้อเสียเป็นการดึงอุปสงค์ในอนาคตที่จะใช้ในปีนี้เอามาใช้ก่อนล่วงหน้าเสียหมด
เพราะฉะนั้น มองว่าในไตรมาส 1/2560 บรรยากาศการบริโภคอาจจะมีการชะลอตัวลงไม่นับรวมภาคอุตสาหกรรมการส่งออก และการท่องเที่ยวโดยเฉพาะการท่องเที่ยวเองที่มีการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญมองว่าจะใช้ระยะเวลาในการแก้ไขเป็นเวลานานอาจจะนานไปจนถึงตรุษจีน หรือสิ้นไตรมาสที่ 1/2560
เพราะฉะนั้น ปัญหาการท่องเที่ยวจากทัวร์ศูนย์เหรียญ อาจจะไม่มีอุปสงค์เพราะถูกใช้ไปในปีที่ผ่านมาหมดแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งหนึ่งที่สามารถกระตุ้นการลงทุน คือ นโยบายการลงทุนภาครัฐ มองว่าขณะนี้ภาครัฐพยายามใช้มาตรการนี้สร้างแรงจูงใจในการลงทุน และเป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดัน GDP ของประเทศให้ปรับตัวสูงขึ้นด้วย ได้แก่ การประมูลรถไฟฟ้าในเส้นทางสายต่างๆ การประมูล และการก่อสร้างรถไฟทางคู่
“มาตรการภาครัฐยังถือว่าไม่มากพอที่จะประคับประคองเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไปได้ ซึ่งหากในปีนี้ยังไม่มีสิ่งที่เป็นปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา และความเชื่อมั่นในการลงทุนยังไม่ปรับตัวสูงขึ้นมา ก็อาจจะทำให้ GDP ปรับตัวลดลงได้อีกเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนปรับตัวลดลงด้วย โดยประเมินว่า EPS Growth ของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้จะอยู่ที่ 107 บาท หรือ 11% จากในปี 2559ซึ่งอยู่ที่ 97 บาท”
ทั้งนี้ มองว่าสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกในปีนี้นั้นจะอยู่ในช่วงขาขึ้นเฟสแรกด้วยนโยบายของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เข้ามาด้วย และตัวนโยบายของเศรษฐกิจในประเทศจีนในช่วงหลังที่มีการทรงตัวมากขึ้น อีกทั้งในสหภาพยุโรป และประเทศญี่ปุ่น จะปรับตัวดีขึ้นด้วยมาตรการนโยบายการเงินต่างๆ และมาตรการ QE จะส่งผลให้มาจากการเงินเฟ้อปรับตัวในทิศทางขาขึ้น ซึ่งการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีการปรับราคาขึ้นด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี มองว่าหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์ ได้แก่ หุ้นกลุ่มโภคภัณฑ์ หุ้นที่เกี่ยวข้องต่อการบริโภคก็น่าจะเป็นกลุ่มหลักที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างชัดเจน เช่น พลังงาน น้ำมัน เหล็ก และสินค้าเกษตร รวมไปถึงโรงงานต่างๆ ที่จะได้รับอานิสงส์จากอุปสงค์ที่เพิ่มมากขึ้น
ส่วนหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยงออกไปก่อน เนื่องจากมีเม็ดเงินไหลออก และอาจจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ หุ้นกลุ่มธนาคาร จากไม่มีเม็ดเงินไหลเข้า และยังไม่นับรวมปัญหาในส่วนของ NPL ที่ยังอยู่ในเพดานที่สูง ทั้งในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าจะมีการปรับมาตรฐานทางบัญชีใหม่เข้ามา ซึ่งจะมีการบังคับในส่วนของธนาคารต่างๆ ให้มีการตั้งสำรองเพิ่มมากขึ้น โดยมองว่ากลุ่มธนาคารจะยังคงได้รับแรงกดดันจากปัญหาตรงนี้อยู่ แม้ว่าจะมองในส่วนของ P/E และ PB/V ของกลุ่มธนาคารในขณะนี้มีราคาถูกลงแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีปัจจัยอะไรเข้ามาสนับสนุน จึงเป็นกลุ่มที่ควรพักไว้ก่อน ควรไปเลือกลงทุนหุ้นกลุ่มอื่นที่มีทิศทางที่ดีกว่านี้มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ทาง บล.ทรีนิตี้ ประเมินว่า SET INDEX ในปีนี้จะอยู่ที่ 1,580 จุด บนพื้นฐาน P2E ที่ 14.7 เท่า ถือว่าอยู่ในระดับที่สูง และไม่ถูกมากนัก แต่ทั้งนี้ มองว่ายังมีอยู่บ้างช่วงเวลาที่มีทิศทางการลงทุนที่ดีสามารถผลักดันให้ดัชนีสามารถปรับตัวขึ้นไปได้
“แต่ทั้งนี้ยังมองไม่เห็นปัจจัยอะไรที่จะสามารถผลักดันให้ดัชนี Set Index ปรับตัวขึ้นไปถึง 1,600 จุดได้ ขณะที่แนวโน้มการปรับตัวลดลงของดัชนี Set Index นั้น อาจปรับตัวลงไปได้ลึกถึง 1,380 จุด บนพื้นฐาน P/E ที่ 12.1 เท่า และการที่ SET INDEX จะปรับตัวลดลงได้ขนาดนั้นจะมาจากการที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 3 ครั้ง และดอลลาร์สหรัฐ ตลอดจนถึงพันธบัตรสหรัฐปรับตัวขึ้นอีกมาก และเป็นปัจจัยสำคัญในการกดดันตลาดหุ้นเกิดใหม่ต่างๆ จากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ปัญหาการเมืองในประเทศอิตาลี การแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของประเทศอังกฤษ ส่วนปัจจัยภายในประเทศยังคงอยู่ที่การบริโภค การท่องเที่ยว การส่งออก และการเลือกตั้งตามโรดแมปที่รัฐบาลวางไว้ ซึ่งหากว่ามีการเลื่อนออกไป หรือ GDP อยู่ในระดับที่น้อยกว่า 2.8-2.9% จากเป้าหมายที่วางไว้ที่ 3.2% ก็อาจกดดันให้ดัชนี SET INDEX ปรับตัวลดลงหลุดต่ำกว่า 1,300 จุดได้”
ขณะที่ นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST กล่าวว่า ดัชนีหุ้นไทยปี 2560มีโอกาสขึ้นทดสอบ 1,650 จุดได้อีกครั้ง เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตที่ระดับ 4-7% ขณะที่ปัจจัยในต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบาย “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 มกราคม 2560 นี้ เป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนจะต้องจับตามอง รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ด้วย
“ผมมองว่าปีนี้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสไปได้ถึง 1,650 จุด เพราะกำไรจากบริษัทจดทะเบียนที่ทำไว้น่าจะเติบโตที่ระดับ 4-7% แต่กระนั้นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนจะต้องจับตา คือ การที่ นายโดนัล ทรัปม์ จะขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 8 มกราคม 2560นี้ ซึ่งต้องจับตาท่าที และนโยบายด้านเศรษฐกิจต่างๆ ว่าจะมีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนอย่างไร โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวเนื่องต่อภูมิภาคเอเชีย รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ที่ส่งสัญญาณออกมาว่าอาจปรับขึ้นอย่างน้อย 2 รอบ หรืออาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดถึงระดับ 0.75% ภายในปีนี้”
นอกจากนั้น ยังต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะมีการเดินหน้าได้ตามโรดแมปที่ได้วางไว้หรือไม่ เพราะจากการวิเคราะห์ และประเมินทิศทางการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในปี 2560 คาดว่าจะสามารถเติบโตได้ถึง 3.3-3.5% จากปี 2559 ที่เติบโตเฉลี่ยที่ระดับ 3% ซึ่งถ้าหาก GDP มีแนวโน้มที่ปรับขึ้นในทิศทางบวกมากกว่านี้ คาดว่าจะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการสนับสนุนตลาดหุ้นไทยให้ปรับตัวบวกขึ้นได้
สำหรับธีมการลงทุนในปีหน้านั้น มองว่า หุ้นที่มีความน่าสนใจ ได้แก่ หุ้นที่อ้างอิงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น หุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย รวมถึงกลุ่มหุ้น Domestic Play ที่ได้อานิสงส์มาตรการภาครัฐสนับสนุน เป็นต้น