บล.เคทีบี (ประเทศไทย) มองหุ้นไทยสัปดาห์นี้ (19-23 ธ.ค.) ดัชนีเคลื่อนไหวผันผวนแบบ sideway จากแรงซื้อขายที่เริ่มเบาบางปัจจัยบวกต่อตลาดเริ่มลดลง แนะช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายควรลงทุนผสมทั้งหุ้นปันผลสูง หุ้นกำไรปีหน้าโต หุ้นที่รับผลบวกมาตรการเศรษฐกิจ มองกรอบดัชนีสัปดาห์นี้ที่ 1,500-1,550 จุด หุ้นที่น่าสนใจ ASEFA, CPALL, SPRC, KAMART, GFPT, SAPPE
ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ KTBST เปิดเผยว่า ช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของปี 2559 ปัจจัยเด่นที่ชี้ทิศทางตลาดไม่ค่อยมีทำให้ปริมาณซื้อขายจะเริ่มเบาบางลง แรงซื้อหลักๆ น่าจะเป็นกองทุน LTF-RMF และนักลงทุนที่เข้ามาเก็งกำไรแบบรายวัน ซึ่งจะทำให้ดัชนีฯ มีความผันผวนในระหว่างวันค่อนข้างสูง ตัวแปรที่มีผลต่อตลาดจะเป็นผลตอบรับต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed แต่จะเริ่มน้อยลงตามลำดับ สังเกตได้จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และ Bond Yield เริ่มทรงๆ ตัว แต่ตลาดอาจขาดแรงซื้อ เพราะปัจจัยที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจากการลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันที่ตอบรับกันมาระดับหนึ่ง และการปรับ ครม.ที่คาดว่า จะไม่มีผลต่อตลาด แต่ตลาดจะไปให้ความสนใจต่อนโยบายการค้าต่างประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่มากขึ้น เพราะใกล้ตัวเข้ามาทุกขณะ จะมีผลต่อหุ้นกลุ่มส่งออก (ถ้าเงินบาทเปลี่ยนแปลงมาก) นอกจากนี้ แรงขายของนักลงทุนต่างประเทศ คาดว่าจะกดดันต่อดัชนีฯ อยู่ต่อไป คาดว่าดัชนีฯ สัปดาห์นี้ (19-23 ธ.ค.) จะผันผวนในกรอบ 1,500-1,550 จุด
ขณะที่ในสัปดาห์ถัดไป (26-30 ธ.ค.) มองว่า การหยุดของตลาดหุ้นต่างประเทศ และตลาดจะไม่มีตัวแปรสำคัญๆ เพราะผ่านไปเกือบหมดแล้ว การซื้อขายจะเป็นการเข้ามาเก็งกำไรช่วงสั้นๆ แบบรายวัน (day trade) มากกว่า ตัวแปรสำคัญๆ ช่วง 26-30 ธ.ค. ประกอบด้วย ตัวเลขส่งออกของไทย (26 ธ.ค.)
สำหรับกลยุทธ์ลงทุน ในภาพรวมๆ ของตลาดจะยังเป็น sideway นักลงทุนส่วนใหญ่จะเล่นด้วยความระมัดระวัง เพราะกลัวแรงขายของนักลงทุนต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย และแรงซื้อของกองทุนฯ ที่คาดว่า ยังเป็นตัวพยุงตลาดทำให้การลงทุนหากเป็นการเลือกลงทุนเป็นรายตัว (selective buy) น่าจะยังทำกำไรให้กับพอร์ตได้อยู่
“ดังนั้น การลงทุนโค้งสุดท้ายของปีแบบนี้น่าจะลงทุนผสมทั้งหุ้นปันผลสูง หุ้นกำไรปีหน้าโต หุ้นรับผลบวกมาตรการเศรษฐกิจ และหุ้นเก็งกำไรช่วงสั้นๆ ที่จะเก็งตามข่าวรายวัน รวมทั้งหุ้นที่ถูกนำเข้าคำนวณ SET50 SET100 ที่จะคึกคักขึ้นด้วย มองกรอบดัชนีในสัปดาห์นี้ (19-23) จะผันผวนในกรอบ 1,500-1,550 จุด”
โดยหุ้นที่คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน ได้แก่ หุ้นรับผลบวกการลงทุน-ใช้จ่าย ภาครัฐ (Domestic Play) : ASEFA, CPALL, TVD, KTC หุ้นมี Dividend Yield สูง : KGI หุ้นเข้าคำนวณ SET50, SET100 : SPRC, KAMART, THANI และหุ้นที่มีประเด็นบวกอื่นๆ หรือราคาลงมามาก : GFPT, SAPPE, KBS, EASON, BA
ทั้งนี้ บล. KTBST มองว่า ตัวแปรที่จะมีผลต่อตลาดมากที่สุด ได้แก่
1) การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังน่าจะส่งผลมาถึงตลาดหุ้นหรือสินทรัพม์ทางการเงินอื่นๆและจะทำให้ตลาดมีความผันผวนไปจนกว่าจะมีการประชุมครั้งต่อไปการคาดการณ์จำนวนครั้งที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยปี 2560 เพิ่มจาก 2 เป็น 3 ครั้ง หรือจะปรับขึ้นไปเป็น 1.5% จาก 0.5-0.75% แม้ตลาดจะคาดการณ์ในเรื่องเหล่านี้ไว้แล้ว แต่ตัวแปรสำคัญ คือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจขยายตัวมากกว่าปกติจากนโยบายของนายทรัมป์ มีผลต่อการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตด้วย การปรับพอร์ตของนักลงทุน หรือแม้กระทั่งพอร์ตลงทุนทองคำ-พันธบัตร ของธนาคารกลางประเทศต่างๆ จึงน่าจะยังเห็นได้ในสัปดาห์นี้
2) ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีกิจกรรมกับประเทศในแถบเอเซียมากขึ้นทั้งไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น จึงเป็นที่น่าจับตาดูว่า นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่เกี่ยวกับด้านการค้าจะถูกตีความอย่างไร จะเป็นบวกหรือเป็นลบต่อหุ้น หรือธุรกิจส่งออก-นำเข้า ซึ่งจะมีผลมาถึงตลาดหุ้นด้วย ขณะเดียวกัน การที่จีนยึด Drone ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ไว้ เป็นบททดสอบนโยบายทางการทหารอันแรกของประธานาธิบดีท่านนี้ ตลาดอาจมีความกังวล ถ้าสหรัฐฯ ใช้ความพยายามที่จะกดดันจีนในเรื่องนี้ เพราะการตอบโต้ของจีน อาจไม่ได้มีผลต่อสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว
3) ความกังวลเรื่อง Over Supply ของน้ำมันน่าจะลดลง การตอบรับต่อการปรับลดการผลิตน้ำมันของ Non-OPEC ค่อนข้างดี และคาดว่า ภาวะ oversupply จะหมดไปภายในปีหน้า แต่การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบ WTI ทาง KTBST คาดว่า 3 เดือนข้างหน้า จะจำกัดอยู่ในกรอบ 50-55 เหรียญสหรัฐ ขณะที่กรอบ 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทั้งนี้ การสูงขึ้นของราคาน้ำมันจากการผลของการลดกำลังการผลิตน้ำมันมีมาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อมีการตกลงกัน จึงขึ้นต่อได้ไม่มาก อีกทั้งการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และตลาดจะยังกังวลต่อไปว่า การผลิตน้ำมันที่มาจาก Shale Oil จะเริ่มเข้ามาในตลาดมากขึ้น หากราคาน้ำมันดิบเกิน 55 เหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งมีกำลังการผลิตน้ำมันจาก Shale Oil 4.5 ล้านบาร์เรล/วัน หรือ 5% ของความต้องการใช้น้ำมันดิบของโลก เป็นตัวจำกัดกรอบการสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ดังนั้น จึงคาดว่าหุ้นกลุ่มน้ำมันในสัปดาห์นี้จะทรงๆ ตัวจากราคาน้ำมันดิบที่ขยับสูงขึ้น (>50 เหรียญสหรัฐ) โดยกลุ่มที่เป็นบวกโดยตรงจะเป็นผู้ผลิตน้ำมันอย่าง PTTEP ในขณะที่หุ้นกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน หรือปิโตรเคมี จะได้เพียง stock gain ทำให้ราคาหุ้นตอบสนองต่อราคาน้ำมันที่สูงขึ้นน้อยกว่าหุ้นผู้ผลิตน้ำมัน
4) การปรับ ครม.เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ปรับตำแหน่ง 7 ท่าน และเข้าใหม่ 4+1 ท่าน คาดจะมีผลต่อตลาดไม่มาก เพราะ 2 ตำแหน่ง มาจากทดแทน รัฐมนตรี 2 ท่านที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นองค์มนตรี เราจึงอยากเรียกว่า ปรับเพื่อความเหมาะสมมากกว่า ผลบวกลบต่อตลาดจึงไม่น่าจะมี แต่ที่น่าสนใจ จะเป็นการทำงานของรัฐบาลที่จะยังคงมีความเข้มข้นอยู่เช่นเดิม จากการคาดหวังของเราว่า จะมีมาตรการด้านเศรษฐกิจใหม่ที่จะออกมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง เป็นปกติของการเข้ารับตำแหน่งใหม่ที่มักจะต้องมีการสร้างผลงาน หากเป็นเช่นนั้น ก็จะเป็นทางที่เป็นบวกมากกว่า
5) หุ้นที่คำนวณ SET50, SET100 หุ้นบางตัวที่ SET ประกาศไปยังไม่ได้ตอบรับ หรือมีการเก็งในข่าวนี้ การประกาศรายชื่อของ SET จึงน่าจะทำให้หุ้นบางตัว หรือส่วนใหญ่มีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้ ขณะเดียวกัน หุ้นที่ถูกถอดออกจากการคำนวณดัชนีฯ ก็อาจถูกขายออกมาเช่นกัน
ปัจจัยสุดท้าย คือ 6) แรงขายของนักลงทุนต่างประเทศ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทะลุระดับ เมื่อ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อเดือน ธ.ค.59 ไปแล้ว ตามที่เราเคยบอกว่า หากเป็นเช่นนั้น จะแสดงให้เห็นว่า ตลาดคาดว่า ดอกเบี้ยจะปรับตัวมากกว่าที่เคยคาดไว้ ทำให้แรงขายหุ้นของนักลงทุนเกิดขึ้นอีกระลอกหนึ่ง เราประเมินแรงขายหุ้นของนักลงทุนกลุ่มนี้น่าจะยังเป็นแรงกดดันต่อตลาดในสัปดาห์นี้อยู่ต่อไป