รองปลัด “คลัง” จ่อชง “คนร.” พิจารณาแผนยกเครื่องที่ดินว่างเปล่า “ร.ฟ.ท.” จำนวน 3.9 หมื่นไร่ หวังจัดระเบียบ 3 กลุ่ม ลงทุน PPP มั่นใจช่วยเพิ่มรายได้การรถไฟปีละ 6 พันล้าน คาดในอีก 6-7 ปี รายได้ทะยานแตะ 1 หมื่นล้าน
นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะทำงานกำกับติดตามการพัฒนาที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการเดินรถของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หรือ non-core เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2559 ที่ประชุมคณะทำงานได้พิจารณา และสรุปแผนที่ดินของ ร.ฟ.ท.ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำนวน 3.9 หมื่นไร่ ระยะเวลา 5 ปี (ปี 2560-2564) ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่เคยมีสัญญาเช่า 2.32 หมื่นไร่ จำนวน 11 แปลง ได้แก่ พื้นที่แปลงใหญ่มูลค่าโครงการมากกว่า 1 พันล้านบาท และต้องเข้าคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ทั้งสถานีบางซื่อ ซึ่งจัดเป็น 4 โซน A, B, C และ D โดยโซน A จะสามารถดำเนินการได้เร็วที่สุดภายใน 18 เดือน หรือเซ็นสัญญาได้สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2561
ส่วนสถานีอื่นที่เข้าร่วมคณะกรรมการพีพีพีเป็นที่ดินแปลงใหญ่ ยังมีสถานี กม.11, สถานีแม่น้ำ สถานีตึกแดง สถานีที่ จ.ขอนแก่น จ.เชียงใหม่ หลักสี่ และสถานีศาลายา ขณะที่สถานีอื่นที่โครงการต่ำกว่า 1 พันล้านบาท มี 25 สถานี ที่จะดำเนินการ และที่ดินรกร้างว่างเปล่าในส่วนที่เหลือ ได้มอบหมายให้ ร.ฟ.ท.ไปสำรวจในแต่ละสถานีว่า สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทำอะไรได้บ้าง ให้จัดทำแผน และจ้างเอกชนมาดำเนินการ
ขณะที่กลุ่ม 2 จะเป็นกลุ่มที่มีสัญญาเช่า จำนวน 1.59 หมื่นไร่ แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่ สัญญาที่เกิน 1 พันล้านบาท ใกล้สิ้นอายุสัญญา 3 แปลง ได้แก่ โรงแรมรถไฟหัวหิน สนามกอล์ฟหัวหิน และโรงแรมอิสติน มักกะสัน จะทำการต่อสัญญาตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมทุนพีพีพี ใช้เวลา 18 เดือน ในการทำการศึกษาต่อสัญญาเดิม และจะปรับค่าเช่าใหม่ทั้งหมด ยกเว้นพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนที่เหลือทั้งที่มี และไม่มีสัญญา ค้างค่าเช่า จะพิจารณาใหม่หมด และกลุ่มที่ 3 พื้นที่บุกรุก จะทำรูปแบบประชารัฐ จะให้การเคหะแห่งชาติ เข้ามาพัฒนา ปรับปรุงให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยกับผู้อาศัยเดิมให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“แผนพัฒนาที่ดินของการเดินรถ ร.ฟ.ท.ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำนวน 3.9 หมื่นไร่ 5 ปี จะเสนอให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณาวันที่ 19 ธ.ค.นี้ และให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เสนอไปยัง คนร.ชุดใหญ่ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 28 ธ.ค.2559 นี้”
ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการได้ตามแผน 5 ปี จะทำให้รายได้ของ ร.ฟ.ท.เพิ่มขึ้นเป็น 6 พันล้านบาทต่อปี จากปัจจุบัน รายได้ของ ร.ฟ.ท.อยู่ที่ 2.5 พันล้านบาทต่อปี และคาดว่าในอนาคตอีก 6-7 ปี รายได้ของ ร.ฟ.ท.จะเพิ่มสูงถึง 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะสามารถกู้สถานะ ร.ฟ.ท.ได้ในระดับหนึ่ง เพราะผลขาดทุนของ ร.ฟ.ท.ในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท หากได้มีรายได้เพิ่มเข้ามาจากแผนดังกล่าวจะทำให้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนาที่ดินการเดินรถ ร.ฟ.ท.ไม่ได้ใช้ประโยชน์นี้ ไม่รวมแผนพัฒนาที่ดินมักกะสัน ของ ร.ฟ.ท.ที่จะนำมาโอนให้กระทรวงการคลัง บริหารจัดการเพื่อแลกหนี้กว่า 6 หมื่นล้านบาท