สินเชื่อเดือนตุลาคมขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยตามกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอลงจากปัจจัยพิเศษ ขณะที่เงินฝากเพิ่มขึ้นจากภาครัฐที่เริ่มต้นปีงบประมาณใหม่
เงินให้สินเชื่อสุทธิเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2.29 หมื่นล้านบาท จากเดือนก่อน สู่ระดับ 10.52 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัว 2.84% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และ 0.50% เทียบปีนี้จนถึงปัจจุบัน โดยยังคงเพิ่มขึ้นในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อที่อยู่อาศัย ส่วนแรงกดดันของการชำระคืนสินเชื่อเช่าซื้อที่เริ่มบรรเทาลง ช่วยหนุนให้ภาพรวมสินเชื่อในกลุ่มธนาคารขนาดกลาง และเล็กกลับมาเป็นบวกเล็กน้อยในเดือนที่ผ่านมา
เงินฝากกลับมาเพิ่มขึ้น 2.09 แสนล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 11.36 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.91% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และ 1.49% เทียบทั้งปีนี้จนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากเงินฝากกระแสรายวัน และออมทรัพย์ (CASA) ที่ได้อานิสงส์จากปัจจัยด้านฤดูกาลที่ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณที่จะมีเงินฝากของภาครัฐเข้ามาเพื่อเตรียมเบิกจ่ายให้แก่หน่วยงานต่างๆ นอกจากนั้น ยังมีแรงหนุนจากเงินฝากกลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่ปรับเพิ่มขึ้นในบางธนาคารอีกด้วย
สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ เดือนตุลาคม 2559 ผ่อนคลายลงจากเดือนก่อนหน้า จากเงินฝากที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ โดยสะท้อนผ่านสัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ซึ่งอ่อนตัวลงมาที่ 90.57% จาก 92.10% ในเดือนก่อน อีกทั้งยังสอดคล้องต่อสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ต่อสินทรัพย์รวมที่ขยับขึ้นมาที่ระดับ 20.48% จากระดับ 19.3% ในเดือนก่อนหน้า
สภาพคล่องในระบบน่าจะยังประคองตัวในช่วงที่เหลือของปี 2559 ขณะที่ภาพรวมสินเชื่อทั้งปี อาจถูกกระทบจากปัจจัยพิเศษในประเทศ ทำให้บรรยากาศการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลท้ายปีชะลอลงในเดือนตุลาคม 2559 บรรยากาศการไว้อาลัยของคนในชาติ ปกคลุมการใช้จ่ายภาคเอกชนในบางกิจกรรมให้ชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี แนวโน้มการใช้จ่ายในเดือนสุดท้ายของปีอาจมีแรงเหวี่ยงกลับ ประกอบกับมีความเป็นไปได้ที่รัฐจะนำมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายพิเศษกลับมาใช้อีกครั้งในหมวดการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค และการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งคงมีส่วนช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และสินเชื่อรายย่อยบางประเภทให้ปรับตัวดีขึ้นได้
สำหรับด้านเงินฝากนั้น ปัจจัยฤดูกาลในช่วงท้ายปีที่มักมีแรงซื้อผลิตภัณฑ์เงินออมระยะยาวเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งประกันชีวิต และกองทุนรวม (RMF และ LTF) อาจมีส่วนดึงเงินฝากออกจากระบบบ้าง แต่ด้วยความต้องการสินเชื่อที่ยังค่อยเป็นค่อยไป ทำให้คาดว่าการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษของธนาคารในช่วงท้ายปี จึงน่าจะมุ่งเน้นเพื่อชดเชยเงินฝากพิเศษเดิมที่ครบกำหนดเป็นหลักมากกว่าจะเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดกลับมาจากช่องทางการออมอื่นๆ อย่างไรก็ดี ด้วยภาพที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 13-14 ธันวาคมที่จะถึงนี้ อาจจะเป็นปัจจัยหนุนเพิ่มเติมให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ และไทยมีโอกาสขยับขึ้นต่อเนื่องจากปัจจุบันที่เริ่มมีสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยเฉพาะในระยะกลางถึงยาว ซึ่งหมายถึงการแข่งขันด้านราคาเงินฝาก โดยเฉพาะเงินฝากระยะยาวอาจเริ่มชัดขึ้นในระยะถัดจากนี้ อันเป็นผลบวกต่อผู้ฝากที่มีเป้าหมายออมเงินในระยะยาว ด้วยภาพดังกล่าวทำให้แนวโน้มสภาพคล่องในช่วงที่เหลือของปีนี้มีโอกาสตึงตัวขึ้นจากภาพที่เห็นในเดือนตุลาคมบ้าง แต่ยังไม่ใช่ระดับที่ตึงตัวจนน่ากังวล