ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดธนาคารกลางสหรัฐฯ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25-0.50% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) รอบที่ 7 ของปี 2559 ในวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2559 เพื่อรอประเมินภาพพัฒนาการการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน และทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวม แต่มีความเป็นไปได้ว่า ถ้อยแถลงหลังการประชุมรอบนี้อาจส่งสัญญาณถึงการเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะใกล้ๆ ในการประชุม FOMC รอบสุดท้ายของปีวันที่ 13-14 ธันวาคม นี้
อาจสามารถกล่าวได้ว่า จุดสนใจของตลาดการเงินทั่วโลกต่อการประชุม FOMC วันที่ 1-2 พฤศจิกายนนี้ น่าจะไม่ได้อยู่ที่ผลการประชุมของเฟด เพราะตลาด และนักลงทุนส่วนใหญ่แทบจะไม่ได้ให้น้ำหนักความเป็นไปได้ในการขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ โดยสิ่งที่ตลาดรอประเมินก็คือ เฟดจะส่งสัญญาณอย่างไรเกี่ยวกับการประชุม FOMC รอบหน้าในเดือนธันวาคม 2559 ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า ประเด็น และเหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในช่วงหลังจากนี้
จากพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แม้จะยังค่อนข้างปะปน แต่หากยังสามารถประคองสัญญาณการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องไว้ได้ ก็อาจหนุนการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือน ธ.ค.นี้ คงต้องยอมรับว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในรอบ 1-2 เดือนที่ผ่านมา ยังมีทิศทางที่ปะปนระหว่างเครื่องชี้ภาคการบริโภค และการลงทุนซึ่งให้ภาพที่อ่อนแอลงเล็กน้อย (เช่น การปรับตัวลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน) กับเครื่องชี้ตลาดแรงงานที่ยังคงสะท้อนภาพการฟื้นตัวต่อเนื่อง (เช่น อัตราการว่างงานสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับใกล้เคียงอัตราการว่างงานระยะยาวตามเฟดประเมิน) ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพดังกล่าวน่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่เฟดจะต้องส่งสัญญาณกับตลาดถึงแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้นในระยะข้างหน้า แม้จะยังไม่เผชิญแรงกดดันให้ต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้ก็ตาม
ทั้งนี้ หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2559 (ที่จะทยอยประกาศออกมาในช่วงหลังจากนี้) ยังคงสะท้อนภาพการฟื้นตัวที่สอดคล้องต่อที่เฟดประเมินไว้ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก ที่ยังไม่ปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญแล้ว คาดว่า เฟดคงจะเลือกจังหวะการประชุม FOMC รอบสุดท้ายของปี ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งก็เป็นทิศทางที่สอดคล้องต่อมุมมองดอกเบี้ยจากเจ้าหน้าที่เฟดหลายท่านที่ได้แสดงความคิดเห็นออกมาในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งเฟดน่าจะหลีกเลี่ยงการสร้างความประหลาดใจให้แก่ตลาด เพื่อไม่ให้ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบเชิงลบ เนื่องจากตลาดการเงินแทบจะไม่ได้คาดการณ์ถึงโอกาสสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2559 มากนัก (โดยขณะนี้มีความเป็นไปได้เพียง 17%) แต่ในทางกลับกัน ตลาดมีคาดการณ์ถึงโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วกว่า 75% สำหรับการประชุมรอบสุดท้ายของปีในเดือนธันวาคมนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อาจจะยังมีไม่มากนักในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำเป็นระยะเวลานาน อาจเป็นปัจจัยที่เจ้าหน้าที่เฟดจะให้น้ำหนักมากขึ้นในการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยในการประชุมเฟดเดือนกันยายน 2559 ที่ผ่านมา มีสมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินถึง 3 จาก 10 ท่าน ที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งน่าจะสะท้อนว่า มุมมองต่อระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมในสายตาของเจ้าหน้าที่เฟดคงใกล้ถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เนื่องจากเจ้าหน้าที่เฟดหลายท่านเริ่มมีความกังวลว่าการปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่องในช่วงที่การจ้างงานฟื้นตัวใกล้ระดับศักยภาพ อาจจะสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว (รวมทั้งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีช่องว่างที่ค่อนข้างแคบ หากจำเป็นต้องปรับนโยบายการเงินเพื่อรองรับวิกฤตรอบใหม่ในอนาคต)
ดังนั้น การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับสู่ระดับปกติในจังหวะที่สอดคล้องต่อภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวกลับขึ้นมาแล้วในระดับหนึ่ง น่าจะช่วยจำกัดความเสี่ยงต่อประเด็นด้านเสถียรภาพ และไม่น่าที่จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบันมากนัก นอกจากนี้ พัฒนาการของเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มขยับขึ้นต่อเนื่องในช่วงปีข้างหน้า ก็คงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เฟดคงจะให้น้ำหนักมากขึ้นในการคุมเข้มนโยบายการเงินในระยะต่อไป
สำหรับผลต่อไทย แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) ไว้ที่ 0.25-0.50% ตามเดิม ในการประชุม FOMC วันที่ 1-2 พฤศจิกายนนี้ อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เฟดน่าจะเตรียมส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้มากขึ้นที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบที่เหลือของปีในวันที่ 13-14 ธันวาคมนี้ ทั้งนี้ สัญญาณที่บ่งชี้ถึงการเตรียมคุมเข้มของเฟดดังกล่าว อาจส่งผลบางส่วนต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดประเทศเกิดใหม่ หลังจากที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว คงจะส่งผลให้ค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะเงินหยวน สกุลเงินอื่นในเอเชีย และเงินบาทปรับอ่อนค่าลง ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลก็คงทยอยปรับตัวขึ้นตาม
สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กนง. คงไม่น่าจะมีการปรับเปลี่ยนจุดยืนของนโยบายการเงินตามการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ เนื่องจาก ธปท. ยังคงมีเครื่องมืออื่นๆ ที่จะใช้ดูแลสภาพคล่องของระบบการเงินไทยให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อความต้องการของภาคธุรกิจ และประชาชนในประเทศ ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าที่จะยืนในระดับต่ำต่อเนื่องเพื่อช่วยประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายเดือนข้างหน้า