อธิบดีสรรพสามิต ยืนยันอัตราภาษีใหม่ของสุราเบียร์ ยาสูบ ไม่เพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการ เผยรอถกปัญหาชั้นกรรมาธิการฯ มั่นใจได้ข้อสรุปแบบวินๆ กันทั้งสองฝ่าย ด้านเอกชนรู้สึกพอใจ ขณะที่การจัดเก็บภาษีของกรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น คาดมีผลบังคับใช้ในปี 60 ได้แน่นอน
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายวาระที่ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการยังกังวลสาระสำคัญของร่างกฎหมายอยู่ 2 ประเด็น คือ เรื่องที่ผู้ประกอบการต้องยื่นโครงสร้างราคาขายปลีกให้อธิบดีกรมสรรพสามิตตรวจสอบ เนื่องจากเป็นความลับทางการค้าของผู้ประกอบการ
สำหรับประเด็นที่สองที่ผู้ประกอบการกังวล คือ การคิดราคาขายปลีกที่จะนำมาใช้เป็นฐานราคาคิดภาษีสรรพสามิต แทนราคาหน้าโรงงาน หรือราคาสำแดงนำเข้า ในร่างกฎหมายมีการกำหนดไว้ว่า ราคาขายปลีกดังกล่าวไม่ต้องคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) มาร่วมอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสุรา เบียร์ และยาสูบ ต้องการให้ราคาขายปลีกไม่ต้องคิดภาษีที่เก็บเข้ากองทุนต่างๆ โดยตรง เพราะถึงแม้ว่าการจ่ายภาษีดังกล่าวโดยตรงให้กับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 2% องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สสท.) หรือไทยพีบีเอส 1.5% และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ 2% เป็นที่แน่นอนแล้วก็ตาม แต่ผู้ประกอบการกังวลว่า หน่วยงานต่างๆ จะมีการออกกฎหมายให้เก็บภาษีตรงจากภาษีบาปเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาขายปลีกสูง และต้องเสียภาษีมากขึ้น
นายสมชาย กล่าวว่า กรรมาธิการมีตัวแทนจากภาคเอกชน ซึ่งได้มีการเสนอเรื่องผ่านให้มีการแปรญัติใน 2 ประเด็นแล้ว แต่ตอนนี้ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการดูภาพรวมของกฎหมายของทั้งฉบับก่อน ซึ่งอยู่ในมาตราท้ายๆ เรื่องของบทลงโทษแล้ว หลังจากดูภาพรวมทั้งหมดก็จะกลับมาแปรญัติทั้งสองประเด็นที่ผู้ประกอบการกังวล
“คาดว่าการแปรญัตติคงไม่มีปัญหา คงหาข้อยุติให้ผู้ประกอบการพอใจ และยังทำให้การเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย ย้ำว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลให้แนวทางชัดเจนว่า การแก้ไขกฎหมายสรรพสามิตครั้งนี้จะต้องไม่ทำให้ภาระภาษีของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น แล้วผลักภาระภาษีไปให้ผู้บริโภค ดังนั้น หากหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ผู้ประกอบการมีภาระภาษีเพิ่มมากขึ้น ทางกรมก็จะประกาศลดอัตราภาษีให้กับผู้ประกอบการมีภาระภาษีใกล้เคียงกับของเดิมให้มากที่สุด เพราะการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ไม่ได้มุ่งหวังการเก็บภาษีเพิ่ม แต่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษี และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการในประเทศกับผู้นำเข้า โดยการพิจารณากฎหมาย คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่นาน และน่าจะมีผลบังคับใช้ได้ทันปีหน้า
อนึ่งก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ผลิตสินค้า และต้องเสียภาษีสรรพสามิต ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมาธิการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยแสดงความไม่เห็นด้วยที่ร่างกฎหมายดังกล่าว ระบุให้มีการยื่นโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำสินค้าให้อธิบดีกรมสรรพสามิตพิจารณา เพราะถือเป็นความลับสูงสุดของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการกังวลมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยทำมาก่อน และในวงการอุตสาหกรรมถือว่าโครงสร้างราคาสินค้าถือเป็นความลับทางการค้าที่สำคัญมาก