xs
xsm
sm
md
lg

เล็งล้วงเงินภาษีบาปดูแลคนชรา “คลัง” เตรียมยกเครื่อง 3 กองทุนนอกงบฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คลัง” ขานรับนโยบายรองนายกฯ ศก. ตั้งกองทุนดูแลผู้ชรา เล็งเป้าแรกดึงเงินจากภาษีบาป แต่ยังไม่กำหนดสัดส่วนวงเงิน ต้องรอสรุปความต้องการใช้ นอกจากนั้น เตรียมยกเครื่อง 3 กองทุนนอกงบประมาณ ประกอบด้วย สปสช. กยศ. และประกันสังคม หลังพบมีปัญหาได้เรื่องรายได้ และรายจ่ายที่จะเพิ่มขึ้น เพื่อลดภาระงบประมาณ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค. เร่งศึกษาตั้งกองทุนชราภาพ ตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โดยคาดว่า จะต้องใช้เงินจากการเก็บภาษีบาปจ่ายโดยตรงให้กับกองทุนชราภาพ เพื่อดูแลผู้สูงอายุ แต่ยังไม่ได้พิจารณาว่าจะให้ส่งในสัดส่วนที่เท่าไร เพราะต้องดูความต้องการใช้เงินอีกครั้ง

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ได้รับเงินจากภาษีบาปปีละ 2% หรือประมาณ 4,000 ล้านบาท รวมเป็น 8,000 ล้านบาท และยังมีสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่ได้เงินจากภาษีบาปปีละ 1.5% แต่ไม่เกิน 2,000 ล้านบาท

“กองทุนชราภาพมีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ เช่น การสร้างที่อยู่อาศัยให้อย่างเหมาะสม การจ่ายเบี้ยยังชีพให้เพียงพอ ซึ่งจะใช้เงินจากกองทุนที่ตั้งขึ้น”

นายกฤษฎา กล่าวว่า กองทุนชราภาพ มีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ เช่น การสร้างที่อยู่อาศัยให้อย่างเหมาะสม การจ่ายเบี้ยยังชีพให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งจะใช้เงินจากกองทุนที่ตั้งขึ้น สำหรับการตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งจะทำให้แรงงานในระบบมีเงินออมใช้หลังเกษียณมากขึ้น เพราะจะบังคับให้นายจ้างตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จากที่ปัจจุบันเป็นกองทุนภาคสมัครใจ

นายกฤษฎา กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการเข้าไปดูแล และแก้ปัญหากองทุนประกันสังคม ในขณะนี้กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน อยู่ระหว่างการหารือร่วมกัน เนื่องจากทางกองทุนประกันสังคมมีแผนที่จะเก็บเงินสมทบเพิ่ม เพื่อทำให้กองทุนมีความมั่นคงมากขึ้น ขณะที่กระทรวงการคลัง ก็จะตั้ง กบช. และต้องการให้ลูกจ้างจ่ายเงินสมทบเช่นกัน ดังนั้น จึงต้องมาพิจารณาร่วมกันเพื่อไม่ให้การเก็บเงินสมทบมากจนเกินไปกับลูกจ้าง

ขณะที่การพิจารณาดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์นั้น กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หารือร่วมกันถึงแนวทางการกำกับสหกรณ์ออมทรัพย์ ให้มีการดำเนินงานที่มั่นคง โปร่งใส ส่วนองค์กรไหนจะเป็นผู้กำกับดูแลสหกรณ์ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายจะพิจารณาความเหมาะสม คาดว่าภายในเดือน ต.ค. จะได้ข้อสรุปทั้งหมด

โดยก่อนหน้านี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง เร่งหารือกับกระทรวงแรงงาน เพื่อหาข้อสรุปในการนำส่งเงินสมทบของลูกจ้าง เพราะภายหลังรัฐบาลเห็นชอบจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) อาจส่งผลให้ลูกจ้างต้องนำส่งเงินสมทบเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ปีละ 9,000 บาท โดยทั้ง 2 หน่วยงาน ต้องสร้างความชัดเจน เพื่อไม่ให้การนำส่งเงินสมทบเข้า 2 กองทุนของลูกจ้างได้รับผลกระทบต่อรายได้มากเกินไป

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ติดตามสถานะทางการเงินของกองทุนนอกงบประมาณ 3 แห่งอย่างใกล้ชิด ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินกู้ให้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เนื่องจากทั้ง 3 กองทุนมีขนาดใหญ่ หากประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยง และภาระทางการคลังให้แก่รัฐบาลได้ เพราะภาระดังกล่าวเป็นภาระผูกพันตามกฎหมายไม่สามารถตัดลดได้ ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ แนวทางลดความเสี่ยงทางการคลังนั้น รัฐบาลจะต้องมีมาตรการควบคุมการขยายตัวของรายจ่าย หรือเพิ่มรายได้ของกองทุนที่เป็นสวัสดิการสังคม ทั้งกองทุนประกันสังคม ควรพิจารณาเพิ่มอายุการเกษียณ เพื่อขยายเวลาการเรียกเก็บเงินสมทบกองทุน รวมถึงการยกเลิกเพดานเงินเดือนของการจ่ายเงินสมทบเพื่อเพิ่มรายได้ของกองทุน ส่วนกองทุน สปสช.ควรศึกษาแนวทางการเพิ่มรายได้ เช่น การร่วมจ่ายค่าบริการ เพื่อเป็นเครื่องมือปรับพฤติกรรมการใช้บริการสุขภาพของผู้ประกันตน ลดการใช้บริการที่ไม่จำเป็น

ขณะเดียวกัน ก็ยอมรับว่า ทั้ง 3 กองทุนมีความเสี่ยง และอาจประสบปัญหาทางการเงินได้ในอนาคต ทั้งกองทุน สปสช.ที่มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการพึ่งพางบประมาณของรัฐบาล สวนทางกับค่าใช้จ่ายของกองทุนที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มความต้องการบริการทางการแพทย์ หากอนาคตโครงสร้างประชากรที่เป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์จะทำให้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ส่วนกองทุนประกันสังคม จะได้รับผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกัน เพราะรายจ่ายส่วนใหญ่เป็นประมาณการหนี้สินประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ และค่าประโยชน์ทดแทน แต่รายได้ส่วนใหญ่มาจากงบสมทบ จากนายจ้าง ผู้ประกันตน และเงินสมทบจากรัฐบาล หากรายได้ทยอยปรับลดลงไปตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของประชากร และกำลังแรงงาน ส่งผลให้ระยะยาวเป็นภาระให้รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่วนกองทุน กยศ. พบว่าปัจจุบัน กระบวนการเรียกเก็บหนี้จากผู้กู้ยืมไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น