xs
xsm
sm
md
lg

มหาดไทยย้ำสิทธิคนชราในเรือนจำเข้าเกณฑ์ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายเดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มหาดไทยย้ำสิทธิ “คนชราในเรือนจำ” เข้าเกณฑ์ได้รับเบี้ยยังชีพ “ผู้สูงอายุ” ต่อเดือนตามช่วงอายุ 600-800 บาท เหตุเป็นพลเมืองของประเทศเช่นกัน แม้ได้สวัสดิการขั้นต่ำของกรมราชทัณฑ์ เป็นไปตามหลักปฏิญญากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เผยกองทุนผู้สูงอายุใหม่-กรมประชาสัมพันธ์ จ่อรับภาษีบาป 2%

วันนี้ (26 ม.ค) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า กระทรวงมหาดไทยได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ใน 2 กรณี ประกอบด้วย 1. กรณีผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ต้องโทษจำคุกในเรือนจำนครราชสีมา โดยในระหว่างที่ต้องโทษจำคุกนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังต้องจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้แก่ภรรยาซึ่งเป็นผู้รับอำนาจจากผู้มีสิทธิรับเงินเป็นประจำทุกเดือน มีสิทธิหรือไม่

กรณีที่ 2 ผู้สูงอายุ จ.ปัตตานี ขอลงทะเบียนผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้รับใบอนุญาต ผู้จัดการ ผู้อำนวยการและครูผู้สอนของโรงเรียนสอนศาสนา ซึ่งเป็นผู้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ แต่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปฏิเสธรับลงทะเบียนเนื่องจากขัดกับเกณฑ์ผู้ได้รับสิทธิ

ทั้งนี้ ฝ่ายกฎหมาย กระทรวงมหาดไทย เห็นว่า ในกรณีแรกตามกฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 ส่วนที่ 6 การอนามัยและสุขาภิบาล หมวด 2 อนามัยของผู้ต้องขัง ข้อ 70 กำหนดให้จ่ายเครื่องนุ่งห่มหลับนอนแก่นักโทษเด็ดขาดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด หมวด 3 การรักษาพยาบาล ข้อ 72 กำหนดให้เรือนจำทุกแห่งจัดให้มีสถานพยาบาลเพื่อเป็นการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังที่ป่วย หมวด 4 การเลี้ยงอาหาร ข้อ 77 กำหนดให้จัดให้ผู้ต้องขังได้รับประทานอาหารอย่างน้อย 2 มื้อ คือเช้าและเย็น อาหารมื้อหนึ่งๆ ให้ประกอบด้วย ข้าวหรือสิ่งอื่นแทนข้าว และกับข้าวหรือสิ่งอื่นแทนกับข้าว เป็นต้น

“สิ่งต่างๆ ดังกล่าวมิใช่สิ่งที่รัฐจัดให้มีขึ้นเป็นพิเศษเพื่อให้ผู้ต้องขังมีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและสะดวกสบาย หรือเป็นสิทธิประโยชน์แต่อย่างใด แต่เป็นการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามหลักปฏิญญากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เรื่องการกำหนดมาตรการขั้นต่ำสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง”

ฝ่ายกฎหมายกระทรวงมหาดไทยเห็นว่า ผู้ต้องขังในเรือนจำถือเป็นพลเมืองของประเทศเช่นกัน จึงควรได้รับสิทธิต่างๆ เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ ดังนั้น ผู้สูงอายุที่ต้องโทษจำคุกในเรือนจำและได้รับสิ่งต่างๆ ในเรือนจำ ไม่ถือเป็นกรณีได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใด จากหน่วยงานของรัฐอันจะทำให้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตามข้อ 6 (4) แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552

ส่วนกรณีที่ 2 ผู้สูงอายุ จ.ปัตตานี ขอลงทะเบียนผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่ อบต.ปฏิเสธนั้น ฝ่ายกฎหมายกระทรวงมหาดไทยเห็นว่า ตามข้อ 6 (4) แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 เมื่อปรากฏว่าผู้ขอรับสิทธิเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้รับใบอนุญาต ผู้จัดการ ผู้อำนวยการและครูผู้สอนของโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม (เอกชน) และมีการโอนโรงเรียนแกมูลนิธิเพื่อการศึกษาของโรงเรียนดังกล่าว มีรายได้จากการอุดหนุนรายบุคคลตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการกำหนดมาตรการช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2558 ถึงแม้จะจดทะเบียนเป็นมูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไรก็ไม่ถือว่าเป็นหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด การอุดหนุนรายปีแก่โรงเรียนและอุดหนุนสมทบเงินเดือนครูเอกชนและผู้ขอสิทธิได้รับค่าจ้างตามสัญญาจ้างระหว่างครูกับโรงเรียนเท่านั้น ไม่ได้รับเงินดังกล่าวโดยตรงจากรัฐ

“จึงไม่ถือว่าผู้ยื่นขอสิทธิเป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานรัฐ จึงไม่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 6 (4) แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 จึงมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ”

มีรายงานด้วยว่า อีกด้านเมื่อวานนี้ (25 ม.ค.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังร่างกฎหมายกองทุนดูแลผู้สูงอายุ ตามแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเงินจากเงินภาษีสุรายาสูบ หรือภาษีบาป (Earmarked Tax) จากกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง มาเพิ่มให้คนชราที่มีรายได้น้อยอีกเดือนละ 100 บาท จากขณะนี้คนชราได้รับเบี้ยยังชีพต่อเดือนคนละ 500 บาท 600 บาท 800 บาท ตามช่วงอายุ ซึ่ง สศค.มองว่าไม่เพียงพอกับที่จะดำรงชีพควรจะมีเงินอย่างน้อยเดือนละ 1,200-1,500 บาท

ปัจจุบันมีการเก็บเงินจากภาษีบาป 3 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ได้รับเงินจากภาษีบาปปีละ 2% หรือประมาณ 4,000 ล้านบาท รวม 2 แห่งเป็นเงิน 8,000 ล้านบาท สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสรับเงินจากภาษีบาปปีละ 1.5% แต่ไม่เกิน 2,000 ล้านบาทโดยมีแนวคิดที่จะออกกฎหมายเพื่อกำหนดอัตราสูงสุดของ สสส. และกองทุนกีฬาฯ ได้รับเหมือนไทยพีบีเอส และนำส่วนเกินมาเข้ากองทุนช่วยเหลือคนชรา

ขณะที่เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับกรมประชาสัมพันธ์ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้แก่ข้าราชการระดับสูงและเจ้าหน้าที่รัฐของกรมประชาสัมพันธ์ โดยตอนหนึ่งนายออมสินระบุว่า เตรียมขอสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากภาษีบาป ที่ได้จากโรงงานยาสูบเช่นเดียวกับไทยพีบีเอส เนื่องจากปัจจุบันงบประมาณที่กรมประชาสัมพันธ์ได้รับมีจำนวนน้อยมากจนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ “ช่อง 11 จะต้องเป็นทีวีสาธารณะ สามารถบริการโฆษณาได้ นอกจากนั้นยังสามารถบริการธุรกิจ แต่ไม่ถึงกับต้องมีละคร” นายออมสินระบุ

กำลังโหลดความคิดเห็น