สปส. เผย ผู้ประกันตนเกษียณรับ “เงินบำนาญ” เพิ่มขึ้น 3 เท่า คาด ปี 60 ยอดรับเงินบำนาญทะลุ 2 แสนคน เสนอปฏิรูป 3 ระบบ ขยายอายุเกษียณ ปรับเพดานค่าจ้างจาก 15,000 เป็น 20,000 บาท พร้อมปรับสูตรคำนวณเงินบำนาญเป็นตลอดอายุการทำงาน ด้านไอแอลโอเสนอย้ายสิทธิรักษาผู้ประกันตนเข้าบัตรทอง จ่ายเงินสมทบเงินออมชราภาพอย่างเดียว
วันนี้ (5 ก.ย.) นางพรพรรณ ศุภนคร รองเลขาธิการสำนักงานประกันกัสงคม (สปส.) กล่าวภายหลังเปิดงานประชุมวิชาการประกันสังคม ประจำปี 2559 ว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาสึนามิประชากร คือ มีผู้สูงอายุจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีผู้ประกันตนที่เกษียณอายุเพิ่มมากขึ้น เห็นได้ชัดจากข้อมูลเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่ สปส. เริ่มจ่ายเงินบำนาญ หลังจากกองทุนบำนาญเริ่มบังคับใช้เมื่อปี 2542 พบว่า มีผู้ประกันตนเกษียณรับเงินบำนาญจำนวน 2 หมื่นคน ปี 2558 มีผู้ประกันตนรับเงินบำนาญเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า หรือ 6 หมื่นคน ขณะที่ปี 2559 ยังไม่ถึงครบปีกลับมีผู้ประกันตนรับบำนาญแล้วถึง 100,000 คน มากกว่าปี 2558 ทั้งปี โดยปี 2560 คาดว่า จะมีคนรับบำนาญเกือบ 200,000 คน และในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า คนรับบำนาญจะเพิ่มถึงหลัก 1 ล้านคน เรียกได้ว่าจ่ายเงินบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
“แม้คนทั่วไปจะมองว่ากองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนขนาดใหญ่ มีเงินจำนวนมาก แต่การจ่ายเงินบำนาญเช่นนี้ ตั้งแต่เกษียณไปจนตลอดชีวิตเงินย่อมร่อยหรอลง เพราะจำนวนคนรับเงินบำนาญเพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมีจำนวนน้อยลง โดยปัจจุบันอัตราคนทำงานต่อผู้สูงอายุอยู่ที่ 6:1 หรือคนทำงาน 6 คน ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน แต่ใน 10 ปีข้างหน้า อัตราดังกล่าวจะลดลงเหลือ 4:1 และ 20 ปีข้างหน้าจะลดลงไปอีกเหลือ 2:1 เงินย่อมไม่เพียงพอ” รองเลขาธิการ สปส. กล่าว
นางพรพรรณ กล่าวว่า สปส. ต้องมีการปรับตัวและปฏิรูประบบบำนาญ ซึ่งการจัดการประชุมในครั้งนี้ เพื่อแสดงให้นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน เห็นว่า ตัวเลขเงินบำนาญเพิ่มทวีคูณแค่ไหน จึงชวนลูกจ้างและผู้ประกันตนมาร่วมให้ความเห็นในเรื่องนี้ เพื่อตัดสินใจเพื่ออนาคตของลูกหลานในวัยเกษียณและความยั่งยืนของกองทุน โดยแนวทางปฏิรูประบบบำนาญเบื้องต้นมี 3 แนวทาง คือ 1. การขยายอายุเกษียณ ซึ่งปัจจุบันอายุเกษียณอยู่ที่ 55 ปี หากจ่ายเงินสมทบต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 15 ปี ก็จะได้รับเงินบำนาญไปตลอดชีวิต แต่หากขยายอายุเกษียณไปเป็น 60 ปี เหมือนกลุ่มคนทั่วไปในคราวเดียวนั้น อาจกระทบกับผู้ที่อายุใกล้เกษียณ ซึ่งอาจมีวางแผนเรื่องการเงินไว้ จึงอาจมีการปรับอายุเกษียณแบบขั้นบันได เช่น อายุ 53 - 54 ปี ไม่มีการปรับอายุเกษียณ อายุ 50 - 52 ปี อาจปรับอายุเกษียณเป็น 57 ปี และขยับไล่ลำดับลงไปเรื่อย ๆ เป็นต้น
2. การปรับสูตรคำนวณบำนาญ จากปัจจุบันคิดจากค่าเฉลี่ยการจ่ายเงินสมทบ 5 ปีสุดท้าย เปลี่ยนเป็นคิดจากค่าเฉลี่ยการจ่ายเงินสมทบตลอดอายุการทำงาน ทำให้ได้เงินบำนาญมากขึ้น และ 3.การปรับเพดานฐานค่าจ้าง เนื่องจากใช้ฐาน 15,000 บาท มากว่า 20 ปีแล้ว โดยอาจปรับเป็น 20,000 บาท ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ 1,650 บาท อาจปรับเพิ่มเป็น 3,600 บาท หรือ 4,800 บาท ซึ่งที่ผ่านมา เคยพยายามจะปรับเพดานหลายครั้ง แต่นายจ้างจะได้รับผลกระทบเพราะต้องจ่ายสมทบเพิ่ม แต่ครั้งนี้คิดว่าต้องมีการปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากไม่มีการปฏิรูปเลยเงินกงอทุนจะใช้ได้ถึงปี 2597 แต่หากมีการปฏิรูปก็จะช่วยให้กองทุนมีความยั่งยืนขึ้น อย่างไรก็ตาม การจะปฏิรูประบบบำนาญนั้นจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นอย่างครบถ้วนรอบด้านก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า การปรับเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสมทบด้วยหรือไม่ นางพรพรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 5% จากค่าจ้าง ซึ่งเพดานสูงสุดคือ 15,000 บาท โดย 3% เก็บไว้เป็นเงินออมชราภาพ ซึ่งอาจมีการปรับเฉพาะเงินออมชราภาพเพิ่มขึ้นเป็น 5% แต่ต้องมีการหารือก่อน
นายนูโน มีรา ไซมอส คุนฮา (Mr.Nuno Meira Simoes Cunha) ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) กล่าวระหว่างบรรยายเรื่อง “มุมมองสถานะกองทุนชราภาพปัจจุบันและแนวทางเพื่ออนาคต” ตอนหนึ่งว่า กองทุนเงินออมชราภาพในหลายประเทศมีปัญหาเรื่องความยั่งยืนและเสถียรภาพเช่นกัน เป็นไปได้หรือไม่ว่าในประเทศไทยนั้น หากจะให้เงินกองทุนดังกล่าวมีความยั่งยืน อาจย้ายสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนไปอยู่สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ส่วนการจ่ายเงินสมทบในแต่ละเดือนนั้นก็เข้าสู่กองทุนเงินออมชราภาพเพียงอย่างเดียว ส่วนการขยายอายุเกษียณ การปรับเพดานค่าจ้าง หรือการปรับสูตรคำนวนเงินบำนาญ จะต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้านและข้อดีข้อเสียก่อน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่