“หมอปิยะสกล” ชี้ ต้องพัฒนาเทคโนโลยีช่วยดันไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ เป็นทำระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ผ่านสมาร์ทโฟน เชื่อมโยงข้อมูลรักษาพยาบาล ผลการตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลทั่วประเทศ
วันนี้ (24 ส.ค.) ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดประชุมวิชาการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2559 : HiMSS Asia Pacific 16 พร้อมมอบโล่เกียรติคุณ แก่ผู้ที่ชนะการประกวดนวัตกรรมพัฒนาซอฟต์แวร์ ว่า สธ. ได้ให้ความสำคัญของระบบดิจิตอลตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยพัฒนาเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพที่เหมาะสม นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ มุ่งเน้นประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาเป็นเครื่องมือผลักดันประเทศเป็นศูนย์กลางการแพทย์ (Medical Tourism Hub) รองรับการเติบโตทางด้านการท่องเที่ยว ได้อย่างคุ้มค่า โดยได้พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพด้านระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (EMR) เพื่อแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาพยาบาล ผลการตรวจสุขภาพของผู้ป่วย ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินผลทดลองดำเนินการในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านข้อมูลสากล
ทั้งนี้ หลักสำคัญในการพัฒนา ต้องดำเนินการภายใต้มาตรฐานสากลด้านสารสนเทศสุขภาพ คำนึงถึงความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูลและการรับ - ส่ง ข้อมูลผ่านเทคโนโลยีสื่อสารเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันได้อย่างมีคุณภาพทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยบริการสุขภาพภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนทุกคนจะเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ผ่านอุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัย หรือโมบายดีไวซ์ (mobile device) ต่าง ๆ ภายใต้กติกา กฎระเบียบในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ร่วมกับการใช้เลขบัตรประชาชน ทำให้เข้ารับการดูแล บำบัดรักษา ด้วยประวัติผู้ป่วยชุดเดียวกันได้อย่างต่อเนื่องกับทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ ยังคาดหวังที่จะขยายความร่วมมือในการพัฒนาต่อยอดให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไป
สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลประกวดนวัตกรรมซอฟต์แวร์ด้านสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2559 ในหัวข้อ “ICT Innovations for eHealth & mHealth” นั้นมี 3 ประเภทผลงาน ได้แก่ 1. นิสิต/นักศึกษา ได้รางวัลผลงานนวัตกรรมดี ทีม enGeno ผลงาน โปรแกรมเอ็นจีโอ : แผนภูมิครอบครัวเพื่อช่วยในการวิเคราะห์ผู้ป่วยเยี่ยมบ้าน 2. ประชาชนทั่วไป รางวัลผลงานนวัตกรรมดีเด่น ทีม Smart-D ผลงาน แพลตฟอร์มนำทางผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้บริการในบัจจุบันและอนาคต และ 3. เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขรางวัลผลงานนวัตกรรมยอดเยี่ยม ทีมโรงพยาบาลนครพนม ผลงาน การพัฒนาโปรแกรมผู้ป่วยระยะยาว (Lomg Term Care)
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่