xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยพบเสพยา 2 ตัวหลายรูปแบบ หวังเพิ่มอาการ “ดีด” ลดอาการหลอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วิจัยพบเสพยาไม่เกิน 2 ตัว แต่มีการใช้หลายรูปแบบ ทั้งใช้ควบคู่ ใช้สลับ ใช้ตามก่อนหลัง และใช้แทน คาดหวังผลออกฤทธิ์เสริมกัน กระตุ้นรุนแรงขึ้น ลดอาการหลอนของยาอีกตัว ชี้ การบำบัดรักษายากกว่าเสพยาตัวเดียว

นายสวัสดิ์ อุ่นใจ พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี นำเสนอผลการศึกษาพฤติกรรมการใช้ยาเสพติดหลายชนิดในผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดโรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี ในงานประชุมวิชาการยาเสพติดแห่งชาติ ประจำปี 2559 ในหัวข้อ “การบำบัดยาเสพติดแบบผสมผสานเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด” ว่า ยาเสพติดมีทั้งสิ้น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มกระตุ้นประสาท อาทิ ยาบ้า ยาไอซ์ กลุ่มกดประสาท เช่น กลุ่มฝิ่น ยาระงับประสาท กลุ่มหลอนประสาท เช่น แอลเอสดี และกลุ่มออกฤทธิ์ผสมผสาน เช่น กัญชา เป็นต้น ซึ่งการใช้ยาเสพติดหลายชนิดจะทำให้มีความซับซ้อนยุ่งยากในการรักษา จึงได้ทำการศึกษาแบบแผนพฤติกรรมการใช้ยาเสพติดหลายชนิดในผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดในโรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี และการรับรู้ฤทธิ์จากการใช้ยาเสพติด โดยเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดรักษาแบบผู้ป่วยในจำนวน 8 คน โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกเมื่อช่วง ก.พ.- เม.ย. 2559

นายสวัสดิ์ กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างใช้ยาเสพติดด้วยกันทั้งสิ้น 6 ชนิด คือ ยาบ้า กัญชา ยาไอซ์ ฝิ่น เฮโรอีน และ โดมิคุม (Domicum) มีการใช้ยาไม่เกิน 2 ชนิดทุกคน และใช้มามากกว่า 5 - 10 ปี ซึ่งคนที่ใช้เกิน 7 - 8 ปี จะเริ่มมีอาการหลอนทางประสาท สำหรับแบบแผนการใช้ยาเสพติดมีความหลากหลายและรับรู้ฤทธิ์ของการใช้ยาเสพติดเป็นอย่างดี คือ 1. การใช้ร่วมกัน เนื่องจากมีฤทธิ์เสริมกัน 2. การสลับกันใช้ เนื่องจากเป็นสารเสพติดในกลุ่มเดียวกัน 3. การใช้ก่อนหลัง เช่น ใช้เพื่อให้เกิดอาการ “ดีด” หรือการออกฤทธิ์แรงขึ้น นานขึ้น หรือนำมาใช้ต้านฤทธิ์กัน เพื่อลดอาการหลอนขณะใช้ยา ช่วยให้เสพยาได้นานขึ้น และ 4. ใช้แทนกัน เช่น ใช้ฝิ่นแทนเฮโรอีน เนื่องจากฝิ่นมาจากธรรมชาติ ส่วนเฮโรอีนนั้นมาจากการสังเคราะห์ เป็นต้น ซึ่งจากการสัมภาษณ์พบว่า มีการใช้มาไม่ต่ำกว่า 5 - 10 ปี อย่างไรก็ตาม การใช้ยาเสพติดมักจะใช้ไม่เกิน 2 ตัว เพราะหากมากกว่านั้นจะหาได้ยาก และมีฤทธิ์รุนแรงเกินไป

“การติดยาเสพติดหลายชนิดการรักษาจะยุ่งยาก และใช้เวลานานกว่าการเสพยาเสพติดชนิดเดียว ซึ่งทางการแพทย์จะรักษาอาการที่เกิดจากยาหลักที่ใช้ก่อน ซึ่งหากยาเสพติดที่ใช้หลายชนิดแต่เป็นกลุ่มเดียวกันก็จะบำบัดง่ายขึ้น เพราะอาการเป็นกลุ่มเดียวกัน โดยจะรักษาตามอาการ อย่างการติดยาบ้า การบำบัดรักษากลุ่มผู้ป่วยนอกจะใช้โปรแกรมเมตริกซ์ คือ ไปกลับไม่ค้างคืน และมีการติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มผู้ป่วยใน จะบำบัดด้วยยา หากมีอาการขาดยาจะใช้เวลาในการบำบัดประมาณ 14 วัน จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงของการฟื้นฟูร่างกาย เรียกว่า FAST MODEL คือ การฟื้นฟูโดยใช้ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วม มีกิจกรรมทางเลือก การปรับความคิดพฤติกรรม และให้ชุมชนช่วยในการบำบัด โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน และติดตามผลเป็นเวลา 1 ปี ว่าจะมีการกลับไปเสพยาอีกหรือไม่ เป็นต้น” นายสวัสดิ์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น