องคมนตรี เผย คนเสพยาหลังบำบัดพ้นโทษกว่า 80% กลับสู่วงจรอุบาทว์ ชี้ ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือสร้างโอกาสกลับคืนสู่สังคม แนะฝึกอาชีพ ให้ความรู้ ห่วงเด็กอาชีวะมีปัญหา พบ 80% พ่อแม่ติดคุกจากเสพยา กรมการแพทย์ เชื่อ ปรับผู้เสพเป็นผู้ป่วย ช่วยลดจำนวนการบำบัดยาเสพติดใน รพ. ได้ เน้นกลุ่มมีปัญหามากเข้าบำบัด ส่วนติดเป็นครั้งคราวดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญ ไม่ต้องอยู่ รพ.
วันนี้ (29 มิ.ย.) ที่ อิมแพ็ค คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เมืองทองธานี ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ปาฐกถาพิเศษในงานประชุมวิชาการยาเสพติดแห่งชาติ ครั้งที่ 17 มีใจความตอนหนึ่ง ว่า ขณะนี้เด็กนักเรียนอาชีวะที่มีปัญหากว่าร้อยละ 80 พบว่า พ่อแม่ต้องติดคุก เพราะคดียาเสพติด ทั้งการเป็นผู้ค้าและผู้เสพ ทำให้เด็กเหล่านี้อยู่ในการเลี้ยงดูของ ปู่ ย่า ตา ยาย และขาดโอกาสในการได้รับการได้รับการบ่มเพาะคุณความดี ทำให้เด็กกลุ่มหนึ่งต้องออกจากการเรียนกลางคัน กลายเป็นเด็กจรจัด ซึ่งถือเป็นโอกาสในชีวิตที่แย่ที่สุดของเด็กไทย และอาจจะนำเข้าสู่วงจรของยาเสพติดต่อไป โดยเริ่มต้นจากการสูบบุหรี่ แต่อาจจะมีบางกลุ่มที่ไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นเป็นเด็กพเนจร แต่ก็มีปัญหาเรียนไม่จบ และไม่รู้จะไปประกอบอาชีพอะไร เพราะไม่มีองค์ความรู้
ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าวว่า การให้โอกาสเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ เช่น เด็กต้องได้รับโอกาสด้านการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ อบรมให้มีวินัย มารยาท ศีลธรรมจรรยา ฝึกอบรมอาชีพ พึ่งตนเองได้ ส่วนผู้ที่ติดยาเสพติดก็เช่นกัน จำเป็นต้องได้รับโอกาสด้วย ทั้งการบำบัดรักษาอาการติดยา รวมไปถึงการให้ความรู้และฝึกทักษะอาชีพ เพื่อที่จะได้ไม่กลับเข้าไปสู่วงจรอุบาทว์อีก คือ เสพยา ถูกจับ บำบัด แล้วก็กลับไปเสพยาและถูกจับอีก ซึ่งที่ผ่านมามีข้อมูลว่ากว่าร้อยละ 80 ผู้เสพยาเสพติดที่พ้นโทษ พ้นการบำบัดมาแล้ว ยังหวนกลับไปสู่วงจรอุบาทว์นี้อีก แสดงว่าประเทศไทยยังให้โอกาสไม่เต็มที่ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ประเทศไทยต้องมาคิดในเรื่องนี้ จึงอยากให้กระทรวงสาธารณสุข หารือกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ ในการสร้างโอกาส สร้างอาชีพให้กับผู้ติดยาเสพติด เช่น ระดับอาชีวศึกษาในการจัดทำหลักสูตรการอบรมอาชีพให้แก่ผู้ติดยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดรักษา เป็นต้น
“จริง ๆ สิ่งเสพติดมีเยอะ ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งยาเสพติด ฝิ่น เหล้า บุหรี่ เท่านั้น แต่ยังมีการเสพติดยศถาบรรดาศักดิ์ เสพติดการซื้อเสียงในนักการเมืองด้วย ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าห่วง อย่างไรก็ตาม การจัดประชุมวิชาการยาเสพติดครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดูแล การให้โอกาสผู้ติดยาเสพติดในสังคม นอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยแล้วยังมีผู้แทนจาก 9 ประเทศในอาเซียนเข้ามาร่วมประชุมด้วย ก็ถือโอกาสเรียนรู้ตรงนี้ร่วมกัน” องคมนตรี กล่าว
นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า หากดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงยุติธรรม โดยให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วยที่ต้องบำบัดรักษา จะทำให้ผู้ป่วยลดลง เนื่องจากจะมีการแบ่งประเภทการบำบัดรักษาที่ตรงจุด โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่ติดยาเสพติดอาการรุนแรง มีปัญหาทั้งทางกายและจิตใจ จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม และ 2. กลุ่มติดยาเสพติดที่ไม่ได้ก่อปัญหา จัดเป็นกลุ่มที่ติดครั้งคราว กลุ่มนี้พบมากร้อยละ 80 - 90 ก็จะมีการดูแลโดยการให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่สถานพยาบาล ซึ่งการดูแลคงไม่ใช่แค่ส่วนของ สธ. อย่างเดียว แต่จะมีความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งวัดและเอกชน เป็นต้น
ด้าน นพ.วิโรจน์ วีรชัย ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอแนวทางลดผู้เสพยา โดยการให้ผู้เสพยาเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสม ส่วนหนึ่งคือ จะมีการเสนอลดโทษผู้เสพยาที่มียาเสพติดในครอบครัว ว่า ไม่ต้องจำคุก แต่ต้องได้รับการบำบัดรักษาแทน ซึ่งหลายคนกังวลว่า หากเป็นกลุ่มที่เสพยาและมีการทำร้ายบุคคลอื่น เพื่อต้องการหาเงินมาเสพจะทำอย่างไร ซึ่งจุดนี้สำคัญ เพราะกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ต้องนำเข้าสู่การบำบัดรักษาให้ได้ โดยจะมีระบบคัดกรองหา ร่วมกับพื้นที่ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องแยกกันว่า กรณีผู้ผลิต ผู้ขายก็ยังต้องติดคุกเหมือนเดิม
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่