xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยุติธรรมห่วงกฎหมายชะลอฟ้องชี้ยังไม่เหมาะกับสังคมไทย(มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 
MGR Online - โฆษกศาลเผย ห่วงกฎหมายชะลอฟ้อง ยันไม่เหมาะสังคมไทย ชี้ มีข้อบกพร่องเยอะ เตรียมระดมความคิดเห็นอีกครั้งเดือน ก.ค.

วันนี้ (14 มิ.ย.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศาลยุติธรรม ถนนรัชดาภิเษก นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม พร้อมด้วย น.ส.ธัญญานุช ตันติกุล ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา และ น.ส.อัมภัสชา ดิษฐอำนาจ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา ได้กล่าวถึงความคืบหน้ากฎหมายชะลอฟ้อง ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม ที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม. แล้ว แต่ส่งร่างกลับให้กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งก่อนหน้านี้ นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เคยยื่นหนังสือแสดงความห่วงใยต่อข้อบกพร่องของร่างกฎหมายในหลายประเด็น ทั้งเรื่องขาดองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจ, จำกัดสิทธิของผู้เสียหายในการนำคดีขึ้นสู่ศาล และกระทบต่อการใช้วิธีตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ว่า ศาลมีข้อห่วงใยเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่หลักการอ้างว่ากฎหมายจะแก้ปัญหาคนล้นคุกนั้น ข้อเท็จจริงโทษคุมขังส่วนใหญ่จะเป็นพวกคดียาเสพติด ที่มีโทษหนักจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต มากกว่าคดีที่จะเข้าข่ายกฎหมายชะลอฟ้อง และตามสถิติเมื่อปี 2558 ศาลชั้นต้นได้พิจารณาคดีเสร็จภายใน 1 ปี มีจำนวนถึง 98 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคดีที่ใช้เวลาพิจารณาเสร็จ 1 เดือน มีมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น ปัจจุบันศาลจึงค่อยไม่มีปัญหาคดีล้นศาลมากนัก ส่วนผู้ต้องขังในเรือนจำส่วนใหญ่ก็เป็นคดียาเสพติด

ในต่างประเทศกฎหมายชะลอฟ้องจะพิจารณาคดีที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในระดับกว้าง เช่น บริษัทหนึ่งจะต้องโทษคดีอาญา จนไม่สามารถดำเนินกิจการได้ และจะกระทบต่อคนจำนวนมาก ไม่ใช่การชะลอฟ้องในคดีอาญาแผ่นดินที่จะมีผลต่อตัวบุคคล เช่น คดีข่มขืน, ติดสินบนเจ้าหน้าที่, ฮั้วประมูล, คดีที่เป็นความผิดต่อรัฐ, ไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ฯลฯ ซึ่งหากเป็นกรณีกฎหมายที่ใช้กับเด็กก็อาจมีความเหมาะสม เพื่อให้โอกาสเด็กและเยาวชน แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่รู้ผิดชอบชั่วดีแล้วกระทำผิดแล้วยังมีกฎหมายคุ้มครองแบบนี้ เหมาะสมหรือไม่ ส่วนกรณีที่มีการพูดถึงว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการชะลอฟ้องแล้วจะไม่มีประวัติอาชญากรติดตัวนั้น ก็ไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะเมื่อเข้าสู่กระบวนการชะลอฟ้องไปแล้วหนึ่งครั้งจะมีประวัติการชะลอฟ้องแสดงให้เห็น และจะไม่สามารถนำคดีเข้าสู่ชะลอฟ้องเป็นครั้งที่สอง ซึ่งหากจะแก้ปัญหาด้านนี้ บางรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ใช้วิธีไม่ซักประวัติอาชญากรในการสมัครงาน เพื่อเป็นการให้โอกาสคนกลุ่มนี้กลับคืนสู่สังคมได้

นอกจากนี้ ศาลยังมีความเป็นห่วงเรื่องกระบวนการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจในการชะลอฟ้อง เนื่องจากร่างกฎหมายไม่ได้ให้องค์กรภายนอกเข้ามาตรวจสอบการทำงานของตำรวจและอัยการ แม้จะมีการระบุให้อัยการสูงสุดตรวจสอบได้ ก็เป็นการตรวจสอบในแนวดิ่งที่ผู้บังคับบัญชาตรวจสอบการปฏิบัติของพนักงาน ไม่ใช่ลักษณะของการถ่วงดุลอำนาจกันระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และ ตุลาการ

ดังนั้น จึงไม่อยากให้เร่งออกกฎหมายชะลอฟ้องมาในลักษณะนี้ เพราะตัวร่างฉบับดังกล่าวยังเป็นปัญหา มีข้อบกพร้อง และท้ายที่สุดก็ยังมีข้อสงสัยว่าจะสามารถแก้ปัญหาตามวัตถุประสงค์ได้จริงหรือไม่ และเห็นว่า ยังมีวิธีการอื่นที่จะสามารถแก้ปัญหาได้มากกว่า ทั้งนี้ ผู้บริหารศาลยุติธรรม และผู้พิพากษาได้นัดประชุมเสวนาระดมความเห็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ประมาณกลางเดือน ก.ค. นี้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น