xs
xsm
sm
md
lg

เร่งแก้ กม.รื้อที่มาบอร์ดประกันสังคม ใช้ “สรรหา” แทนเลือกตั้งพันล้าน ตั้งหน่วยงานลงทุนหาเงินโปะกองทุนชราภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม
สปส. เร่งปรับแก้กฎหมาย รื้อที่มาบอร์ดประกันสังคม ใช้ “สรรหา” แทนการเลือกตั้งราคา 1,000 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าปฏิรูปกองทุนชราภาพ 5 แนวทาง เพิ่มอัตราเงินสมทบ ปรับฐานค่าจ้าง ขยายอายุเกษียณ ปรับสูตรคำนวณเงินบำนาญ ตั้งหน่วยงานลงทุนหาเงินโปะกองทุนชราภาพ ยืดอายุกองทุนเพิ่มอีก 30 ปี หลังคำนวณพบจ่ายเงินบำนาญล้านคนใช้งบถึง 2.4 แสนล้านบาท

จากกรณีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมปฏิรูปกองทุนบำนาญชราภาพเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและรับมือต่อคลื่นสึนามิประชากรผู้สูงอายุที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีการปรับฐานค่าจ้าง ขยายอายุเกษียณ ปรับสูตรคำนวณเงินบำนาญ และปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบนั้น

ล่าสุด วันนี้ (14 ก.ย.) นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการ สปส. แถลงข่าวถึงเรื่องนี้ว่า สปส. เริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพเมื่อปี 2557 มีผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปี ตามกำหนดยื่นขอรับเงินบำนาญชราภาพจำนวน 20,000 ราย รวมเป็นเงิน 370 ล้านบาท ปี 2559 เพิ่มเป็น 67,000 ราย รวมเป็นเงินกว่า 1,450 ล้านบาท และปี 2560 คาดว่า จะเพิ่มเป็น 200,000 ราย และภายในปี 2570 หรือ 10 ปีข้างหน้า จะเพิ่มเป็น 1 ล้านคน ใช้งบประมาณกว่า 246,524 ล้านบาท เนื่องจากประชากรผู้สูงอายุจำนวนเพิ่มมากขึ้น อายุยืนขึ้น และต้องจ่ายเงินบำนาญชราภาพนี้ไปจนกว่าผู้ประกันตนจะเสียชีวิต สะท้อนว่า สปส. ต้องจ่ายเงินบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ประเมินค่าทางคณิตศาสตร์ประกันภัยของกองทุนชราภาพ พบว่า หากไม่มีการปรับปรุงเลย จะใช้เงินกองทุนหมดภายใน 38 ปีข้างหน้า

นายโกวิท กล่าวว่า การปฏิรูปกองทุนบำนาญชราภาพให้เกิดความยั่งยืน ยังคงยืนยันตามแนวทางเดิม คือ 1. การปรับฐานค่าจ้างที่ใช้คำนวณเงินสมทบ จากเดิมขั้นต่ำคือ 1,650 บาท ปรับเป็น 3,600 บาท และเพดานสูงสุดคือ 15,000 บาท ปรับเพิ่มเป็น 20,000 บาท 2. ขยายอายุเกษียณ จากเดิมที่กำหนดไว้ 55 ปี เป็น 60 ปี โดยจะขยายในปี 2565 เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ที่อายุใกล้ 55 ปีแล้ว ที่ต้องปรับอายุเพิ่มขึ้นเพราะคนอายุยืนขึ้นและยังทำงานอยู่ ซึ่งในต่างประเทศก็กำหนดอายุเกษียณอยู่ที่ประมาณ 60 - 65 ปี ที่สำคัญ เมื่อขยายอายุเกษียณออกไปแล้วหากถูกเลิกจ้าง หรือลาออกหลังอายุ 55 ปี ก็ยังรับเงินตามสิทธิว่างงานได้ด้วย 3. การปรับสูตรคำนวณเงินบำนาญ จากเดิมใช้ค่าจ้างเฉลี่ย 5 ปีสุดท้าย ทำให้ผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญน้อยไม่เป็นธรรม ก็เสนอไว้ 2 - 3 แนวทาง คือ ใช้เงินสมทบทั้งหมดที่ส่งมาเฉลี่ยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์หารด้วยอายุการทำงานทั้งหมด หรือกำหนดที่ค่าจ้าง 15 ปี หรือ 20 ปี มาคำนวณเงินบำนาญแทน

และ 4. การปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบ จากการศึกษาพบว่า เงินบำนาญที่จะเพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพได้เมื่อมีอัตราการออมเงินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของรายได้ แต่ปัจจุบัน สปส. เก็บอัตราเงินสมทบจากผู้ประกันตนและนายจ้างเพียงฝ่ายละร้อยละ 3 รวมร้อยละ 6 ทำให้มีการออมเงินต่ำ จึงมีการปรับการเก็บอัตราเงินสมทบเพิ่มฝ่ายละไม่เกินร้อยละ 5 แต่เพิ่มเฉพาะส่วนของเงินบำนาญเท่านั้น ส่วนที่จะมีการปรับเพิ่ม คือ การปรับนโยบายการลงทุน ซึ่งกองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนใหญ่ที่สุด มีเงินกว่า 1.46 ล้านล้านบาท และกฎหมายก็เปิดช่องให้ทำการลงทุนได้ จึงจะมีการตั้งหน่วยงานอิสระภายใต้การกำกับของ สปส. ขึ้นมา เพื่อดึงตัวผู้เชี่ยวชาญมาทำงาน และกระจายการลงทุนสู่ต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงทำให้ได้ผลตอบแทนสูงขึ้น มีเงินเข้ากองทุนชราภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งหากมีการดำเนินการหลายมาตรการเช่นนี้จะช่วยยืดอายุกองทุนออกไปอีกอย่างน้อย 30 ปี ทั้งนี้ จากการประชุมวิชาการประกันสังคม ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างเห็นด้วยกับแนวทางในการเพิ่มความยั่งยืนของกองทุนบำนาญชราภาพ

การดำเนินงานทั้งหมดอยู่ระหว่างการปรับแก้ พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เพื่อให้ สปส. ออกกฎกระทรวงในการดำเนินการได้ เช่น การเพิ่มอัตราเงินสมทบชราภาพไม่เกินร้อยละ 5 การขยายอายุเกษียณ การตั้งหน่วยงานอิสระในการลงทุน เป็นต้น และจะมีการปรับแก้เรื่องของที่มาของคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) โดยจะใช้การสรรหาแทนการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งใช้เงินไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งการสรรหาจะช่วยให้ได้ตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างที่ครอบคลุมเป็นธรรมมากกว่า โดยอยู่ระหว่างการเสนอกระทรวงแรงงานเห็นชอบภายใน ก.ย. นี้” เลขาธิการ สปส. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น