กระทรวงแรงงาน - สสส. และ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย จับมือสถานประกอบการ 12 แห่ง ลงนามบันทึกข้อตกลง ต้นแบบนำร่องขยายอายุการจ้างแรงงานผู้สูงอายุ จาก 55 ปี เป็น 60 ปี เตรียมพร้อมรับมือสังคมผู้สูงอายุ ชี้ ช่วยแก้ปัญหาขาดแรงงาน - GDP ชะลอตัวลง - พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ - ลดภาระพึ่งพิงลูกหลาน
วันนี้ (7 ก.ย.) ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ กระทรวงแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับ สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 12 แห่ง ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบาย : การขยายอายุการจ้างแรงงานผู้สูงวัยในสถานประกอบการ เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลไปสู่สถานประกอบการอื่น ๆ ทั้งนี้ มีองค์กรภาคีให้การสนับสนุนร่วมเป็นสักขีพยาน ได้แก่ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับแนวโน้มการขาดแคลนของแรงงานในอนาคต การขยายอายุการจ้างงาน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะแรงงานสูงวัยที่มีศักยภาพ และมีประสบการณ์ถือเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องขอบคุณ สสส. และ มส.ผส. ที่ร่วมกันผลักดันหาแนวทางยุทธศาสตร์การขยายการจ้างงานแรงงานสูงวัยในสถานประกอบการครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งได้นำเสนอคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาตินำไปสู่การปฏิบัติ มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเรื่องดังกล่าว พร้อมกับได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกัน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกำลังทำประชาพิจารณ์ในเรื่องของการแก้ไขกฎหมายการเกษียณ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกับหลายหน่วยงาน เพื่อเดินหน้าขยายอายุการจ้างงานโดยจะขยายจาก 55 ปี เป็น 60 ปี รองรับข้อตกลงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงต้องมีการปรับแก้หลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ใน พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ และเงินบำนาญชราภาพตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานได้เปิดศูนย์บริการจัดหางานให้ผู้สูงอายุขึ้นทะเบียนหางานทำให้มีฐานข้อมูลผู้สูงอายุที่สถานประกอบการสามารถคัดเลือกคนเข้าทำงานได้ตรงความต้องการ
นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มียุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายเตรียมความพร้อมของระบบรองรับสังคมสูงวัย ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการพัฒนาต้นแบบ นวัตกรรมในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างโอกาสการทำงานสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการทำงาน และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สถานการณ์สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2567 ซึ่งมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และจะเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” ในปี 2573 ซึ่งมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างการรับรู้ของสังคม ประชาชน และพัฒนาระบบต่าง ๆ ที่จะสามารถรองรับสังคมผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างโอกาสและขยายการจ้างงานแรงงานสูงวัยในสถานประกอบการเป็นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาได้ เพราะผู้สูงวัยถือเป็นผู้มีประสบการณ์และมีศักยภาพในการทำงานที่เป็นกำลังสำคัญของสถานประกอบการ และช่วยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่สำคัญ การจ้างงานเป็นการสร้างรายได้ให้กับแรงงานสูงวัย ช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ลดภาระและการพึ่งพิงครอบครัว และสังคมได้ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการส่งเสริมให้ประชากรที่ใกล้เข้าสู่วัยสูงอายุมีการเตรียมความพร้อมทั้งด้านสุขภาพ สังคม และ เศรษฐกิจ เพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ และเป็นพลังของสังคมได้ยาวนานที่สุด
พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา พบว่า โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จะส่งผลกระทบที่สำคัญต่อกำลังการผลิตและกำลังแรงงาน ทำให้โครงสร้างกำลังแรงงานที่เป็นคนหนุ่มสาวลดน้อยลง ซึ่งจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ชะลอตัวลงได้อย่างน้อยร้อยละ 1 ต่อปี หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ปัจจุบันระบบการเกษียณอายุจากการทำงานของภาคเอกชนอยู่ที่อายุ 55 ปี ภาคราชการอยู่ที่อายุ 60 ปี การสร้างเสริมโอกาสและการทำงานให้กับผู้สูงวัยจะเป็นนโยบายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในอนาคต การจัดงานวันนี้จึงเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือจากองค์กรภาคีต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ 1. สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของกำลังแรงงานผู้สูงวัยที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติในอนาคต 2. สร้างมาตรฐานต้นแบบการจ้างแรงงานสูงวัยอย่างต่อเนื่องในสถานประกอบการ โดยจะมีการนำร่องสถานประกอบการ 12 แห่ง เพื่อขยายผลไปสู่สถานประกอบการอื่น ๆ โดยยืดระบบการเกษียณอายุของภาคเอกชนจากปัจจุบันอายุ 55 ปี เป็นอายุ 60 ปี รวมไปถึงมีสวัสดิการรองรับที่เพียงพอ
สำหรับ 12 บริษัทนำร่องที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ได้แก่ บริษัท โฮมโปรดักส์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยโตชิบาอุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด, บริษัท ไทย วี.พี. คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยรุ่งพาร์ทเนอร์ส กรุ๊ป จำกัด ,บริษัท สยามเด็นโซ่ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด, บริษัท ฮีโน่มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ชัยบูรณ์ บราเดอร์ส จำกัด, บริษัท เอส เมดิคอล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์), บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด, บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) และบริษัท อีซูซุเจริญกิจ มอเตอร์ส จำกัด