ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ เห็นได้จากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ระบุว่าในปี 2553 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปในอัตรา 9% ของประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มขึ้นเป็น 14% ในปี 2564 และ 20% ในปี 2574
เรียกได้ว่าแค่ฟังก็ขนลุกเมื่อชีวิตคนเราจะยืนยาวขึ้น แต่เมื่อมองย้อนกลับมาที่ตนเองก็พบว่ายังไม่มีหลักประกันอะไรที่จะรองรับความยืนยาวของอายุเราได้เลย..แม้หลายคนบอกว่าก็พยายามจะออมเงินกันอยู่ ประกันก็ซื้อ กองทุนก็ออม นั่นก็เป็นทางออกที่ดีที่จะช่วยให้วัยเกษียณของเราสุขสมบูรณ์ได้ในช่วงบั้นปลายของชีวิต
แต่ในทางกลับกัน ประชาชนทั่วไปที่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ เกษตรกร แม่ค้าแม่ขาย แม่บ้านที่ไม่ได้ทำงาน หรือแรงงานที่ไม่มีสวัสดิการต่างๆ รองรับ...อะไรจะพอเป็นหลักประกันให้กับพวกเขาเหล่านั้นบ้าง แน่นอนว่า “กองทุนการออมแห่งชาติ” หรือ กอช.จะช่วยพวกเขาเหล่านี้ได้แน่นอน...
ใครสมัครได้บ้าง
สำหรับผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิก กอช. ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น เกษตรกร ค้าขาย รับจ้างทั่วไป คนขับรถแท็กซี่ แม่บ้าน สถาปนิก แพทย์ ทนายความ ลูกจ้างรายวันหรือรายสัปดาห์ของบริษัทเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการที่ไม่ใช่ลูกจ้างรายเดือน ลูกจ้างชั่วคราวรัฐวิสาหกิจที่ไม่เข้าประกันสังคม นักการเมือง (ส.ส.) นักการเมืองท้องถิ่น ได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกสภาจังหวัด นายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเทศมนตรี หรือเรียกง่ายๆ ว่าต้องไม่เป็นสมาชิกกองทุน กบข. กองทุนประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นั่นเอง
การสะสมเงิน
โดยผู้เป็นสมาชิกต้องจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่าครั้งละ 50 บาท ซึ่งหากรวมกันแล้วภายใน 1 ปีต้องไม่เกิน 13,200 บาท หรือไม่เกินเดือนละ 1,100 บาทนั่นเอง
ในประเด็นนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าถ้าเดือนไหนไม่มีเงินจะงดจ่ายได้หรือไม่ หรือจะไปจ่ายสมทบในเดือนอื่นๆ แทน คำตอบก็คือว่าได้ จะจ่ายเดือนไหน กี่ครั้ง ก็ได้แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 50 บาท และภายใน 1 ปีต้องไม่เกิน 13,200 บาทนั่นเอง
ทั้งนี้ รัฐบาลจ่ายเงินสมทบตามระดับอายุของสมาชิก และเป็นอัตราส่วนกับจำนวนเงินสะสม ดังนี้
1. สมาชิกที่อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี ได้รับเงินสมทบ 50% ของเงินที่สะสมแต่ไม่เกินปีละ 600 บาท
2. สมาชิกที่อายุมากกว่า 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี ได้รับเงินสมทบ 80% ของเงินที่สะสมแต่ไม่เกินปีละ 960 บาท
3. สมาชิกที่อายุมากกว่า 50 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี ได้รับเงินสมทบ 100% ของเงินที่สะสม แต่ไม่เกินปีละ 1,200 บาท
ผู้ประกันตนของประกันสังคมมาตรา 40 ย้ายมา กอช.ได้หรือไม่
หลายคนอาจจะสงสัยว่าความแตกต่างของประกันสังคมมาตรา 40 กับ กอช.นั้นแตกต่างกันอย่างไร สำหรับมาตรา 40 ของประกันสังคม คือ การที่จะได้บำนาญนั้นต้องจ่ายเงินสมทบมากกว่า 420 เดือน แต่ถ้าหากไม่ถึงตามที่กำหนดไว้ผู้ประกันตนมาตรา 40 จะได้เงินบำเหน็จแทน
ข้อเสียของบำเหน็จคือในอนาคตมีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุจะมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น หากได้รับเงินเพียงก้อนเดียวหลังจากเกษียณมีโอกาสสูงที่เงินจะมีไม่เพียงพอในการใช้จ่ายนั่นเอง
ในขณะที่ประกันสังคมนั้นเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติมนอกจากการออมเงินเพียงอย่างเดียว ได้แก่ กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ (เงินบำนาญ-เงินบำเหน็จ) เป็นต้น
ทั้งนี้สมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการ กอช. กล่าวว่า หลังจากได้จัดตั้ง กอช.ขึ้น และเริ่มรับสมัครสมาชิกแล้วตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.การให้สิทธิแก่ผู้สมัครเป็นสมาชิก กอช.เป็นบางกรณี ซึ่งทำให้ผู้ประกันตนที่เคยได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ หรือที่เรียกให้ประชาชนเข้าใจอย่างง่ายๆ ว่า มาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ผู้ประกันตนกลุ่มนี้สามารถโอนย้ายมาเป็นสมาชิก กอช.ได้ โดยแจ้งความจำนงต่อสำนักงานประกันสังคมให้โอนเงินส่วนที่เป็น ‘บำนาญชราภาพ’ มาเป็นเงินตั้งต้นการออมกับ กอช.
“ตามกฎหมายประกันสังคม มาตรา 40 มีจำนวนผู้ประกันตนประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งจะมีจำนวนหนึ่งที่มีสิทธิโอนย้ายมาเป็นสมาชิก กอช. โดยแจ้งความจำนงที่จะโอนย้ายเงินผลประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ หรือ ‘บำนาญชราภาพ’ มาเป็นเงินตั้งต้นการออมกับ กอช. ปัจจุบัน กอช.ได้เตรียมพร้อมรับการโอนข้อมูลและเงินบำนาญชราภาพของผู้ประกันตนแล้ว จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกันตนเร่งแจ้งความจำนงต่อสำนักงานประกันสังคมภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะหมดเขตวันที่ 23 มีนาคม 2559 นี้ โดยล่าสุดมีผู้ประกันตนสอบถามข้อมูลเข้ามาที่สำนักงาน กอช.เป็นจำนวนมาก”
ทั้งนี้ ปกติผู้ที่สมัครสมาชิก กอช.จะสามารถออมเงินกับ กอช.ได้ปีละไม่เกิน 13,200 บาทตามที่กฎหมายกำหนด แต่สำหรับผู้ประกันตนที่โอนเงินมายัง กอช.จะได้รับประโยชน์ตรงที่เงินส่วนที่โอนมานั้นจะไม่ถูกนำมารวมนับเป็นสิทธิการออมในปีนั้น เท่ากับเพิ่มความเป็นไปได้ที่สมาชิกจะได้รับเงินบำนาญตลอดชีพถ้าสมาชิกมีการออมที่เพียงพอ โดยเมื่อถึงกำหนดวันครบระยะการออมเงินทั้งหมดตามสิทธิของสมาชิกซึ่งรวมกับเงินที่โอนมาจากประกันสังคมด้วยก็จะถูกนำมารวมกันเพื่อคำนวณหายอดเงินบำนาญรายเดือนที่สมาชิกจะได้รับต่อไป โดย กอช. และสำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการถ่ายโอนข้อมูลและเงินบำนาญชราภาพของผู้ประกันตนมายังฐานข้อมูลสมาชิก กอช. ซึ่งหลังจากที่ได้กำหนดขั้นตอนวิธีการ และเริ่มดำเนินการโอนข้อมูลแล้ว ทาง กอช.จะมีหนังสือแจ้งให้สมาชิกทราบต่อไป
อย่างไรก็ดี กอช.เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้เรามีเงินใช้ยามเกษียณโดยรัฐบาลจะช่วยจ่ายเงินสมทบให้ แต่เราก็ควรจะหาช่องทางอื่นๆ ในการออมเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ชีวิตหลังเกษียณมีความสุขมากยิ่งขึ้น