xs
xsm
sm
md
lg

“ทองคำ” กับ “สินทรัพย์ปลอดภัย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ทองคำ” เริ่มถูกตั้ง “สินทรัพย์ปลอดภัย” อยู่หรือ? เพราะหลายครั้งที่เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะกรณีของเศรษฐกิจภายในสหรัฐอเมริกา มีสัญญาณชะลอตัว “ทองคำ” จะเป็นสินทรัพย์อันดับต้นๆ ที่นักลงทุนจะเข้าลงทุน แต่ในช่วง 3-5 ปีมานี้ หลายครั้งที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ย่ำแย่ กลับกลายเป็นว่านักลงทุนยังคงลงทุนใน “สินทรัพย์เสี่ยง” อย่างตลาดหุ้นมากกว่าทองคำ ปัจจัย หรือตัวแปรสำคัญ คือ ท่าทีของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ FOMC ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ที่จะกำหนดทิศทาง “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” นั่นเอง

การกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลต่อจิตวิทยาการลงทุนอย่างไร?
“ธนรัชต์ พสวงศ์” กรรมการผู้จัดการบริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (HGF)แจงข้อเท็จจริง ว่า ทองคำซื้อ-ขายในตลาดโลกด้วยเงินสกุล “ดอลลาร์สหรัฐ” ดังนั้น เมื่อเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐแข็งหรืออ่อน ก็จะส่งผลตรงข้ามต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ การปรับขึ้น หรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะส่งผลโดยตรงต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวแปรที่สะท้อนถึงการไหลเข้าออกของเงินทุน เมื่อดัชนีชี้วัดระบุว่าเศรษฐกิจภายในประเทศสหรัฐอเมริกากำลังปรับตัวดีขึ้น ย่อมเพิ่มความมั่นใจให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในทางตรงข้ามหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจภายในประเทศสหรัฐอเมริกาย่ำแย่ นักลงทุนก็จะประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ คงอึดอัดใจไม่น้อยหากจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงนั้นๆ

หากดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับต่ำ นักลงทุนจะไม่พิจารณาโยกย้ายเงินเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ เพราะผลตอบแทนยังไม่ค่อยน่าสนใจเมื่อเทียบกับตราสารอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนในตลาดหุ้นในสหรัฐฯ เอง รวมถึงตลาดทุนของประเทศอื่นๆ เงินทุนก็ยังไหลวนอยู่นอกประเทศสหรัฐอเมริกา ความต้องการเงินดอลลาร์ก็จะยังอยู่ในระดับต่ำ ค่าเงินดอลลาร์ก็อาจอ่อนค่าลง และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างประเมินทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ว่ากำลังจะกลับมาเป็นขาขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยลบกดดันการเคลื่อนไหวของทองคำรวมถึงตลาดหุ้นทั่วโลก การเคลื่อนไหวของหุ้นและทองจึงกลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน แต่ด้วยสัดส่วนของเงินทุนส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะลงทุนในตลาดหุ้นมากกว่าตลาดทองคำ การปรับขึ้น หรือลงของตลาดหุ้นของหลายประเทศจึงดูชัดเจนกว่า
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาทองคำในฐานะ “สินทรัพย์ปลอดภัย” กรรมการผู้จัดการ HGF ให้จำกัดความคำว่า “สินทรัพย์ปลอดภัย” ในความรู้สึกของ “คนทั่วไป” ว่า คือสินทรัพย์ที่ดีที่สุดหากมีความกังวล มีความกลัว มีความไม่มั่นใจ มีเหตุการณ์รุนแรง เพียงแต่ความหมายที่ชัดเจนที่สุดของ คำว่า “สินทรัพย์ปลอดภัย” สำหรับทองคำนั้น คือ ความปลอดภัยในภาวะเงินเฟ้อ เมื่อใดที่เกิดเงินเฟ้อทองคำจะเป็นสินทรัพย์ที่สามารถต่อสู้กับเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดี

 
ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัว ดอกเบี้ยสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้น ทองคำจึงเริ่มขาดความน่าสนใจ

. สำหรับปี 2559 ราคาทองคำเพิ่งพุ่งขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้ในอัตราที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อนๆ และราคาทองคำได้ปรับขึ้นอีกราว 6.5% ในไตรมาส 2 และพุ่งขึ้นมาแล้วมากกว่า 25% จากช่วงต้นปีนี้ โดยนักลงทุนเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลเรื่อง Brexit

“พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ YLG สรุปปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาทอง มี 5 ปัจจัย ประกอบด้วย 1.นโยบายการเงินสหรัฐอเมริกา 2.นโยบายการเงินยุโรป และเอเชีย 3.ความต้องการของกองทุน 4.เทศกาลสำคัญ และ 5.ปัจจัยทางการเมือง แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีปัจจัยทางธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้เข้ามาเบี่ยงเบนเป็นระยะ ซึ่งนักวิเคราะห์ก็ต้องพิจารณาประกอบด้วย

สำหรับราคาทองในประเทศไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร YLG ระบุว่า ค่าเงินบาทเข้ามาเป็นตัวแปรเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะต้องยอมรับว่า สกุลเงินบาท มีความอ่อนไหว สามารถเคลื่อนไหวผันแปรตามปริมาณเงินที่ทุนเคลื่อนย้ายเข้า-ออกในแต่ละช่วงเวลา ดังนั้น หากจะพิจารณาเข้ามาลงทุน นักลงทุนควรมองแนวรับ-แนวต้านที่เหมาะสมก่อนเมื่อตัดสินใจแล้วถึงนำค่าเงินบาท ณ ช่วงเวลานั้นๆ เข้ามาประกอบการพิจารณา

ราคาทองคำในไตรมาส 3 ของปีนี้ ถึงแม้จะไม่ได้เคลื่อนไหวหวือหวาเท่า 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ แต่จะเห็นได้ว่าตลอดไตรมาส 3 ของปี 2559 ราคาทองคำสามารถทรงตัวอยู่เหนือระดับ 1,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ราคาทองคำทรงตัวอยู่ในระดับสูง ได้แก่ การที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าแถลงการณ์ของ FED บ่งชี้การขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือน ธ.ค. ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายในปีนี้

ราคาทองคำจะเป็นอย่างไรในไตรมาส 4/2016

ถึงแม้ว่าราคาทองคำจะมีการอ่อนตัวลงแต่หากราคาทองคำยังคงเคลื่อนไหวเหนือกรอบราคาบริเวณ 1,210-1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ จะแสดงให้เห็นว่าราคาทองคำสามารถรักษาแนวโน้มขาขึ้นในระยะยาวไว้ได้ ขณะที่หากราคาสามารถยืนเหนือโซนบริเวณ 1,250-1,245 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ประเมินว่าการอ่อนตัวลงของราคาทองคำเป็นเพียงการพักฐานของราคาหลังจากช่วงก่อนหน้าราคาทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยหลักๆ ที่จะส่งผลต่อราคาทองคำ ได้แก่ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีวัย 69 ปี และนางฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต เป็นหนึ่งความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจหนุนราคาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย อีกทั้งการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED เป็นอีกปัจจัยที่ต้องติดตามเช่นกัน

“หาก FED มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ตามคาดก็อาจเป็นกดดันราคาทองคำในช่วงปลายปีได้ ในทางกลับกันหากมีความเสี่ยงที่ส่งผลให้ FED ตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนธันวาคมก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนราคาทองคำในปี 2560 นักลงทุนจึงต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพราะประธานธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่น่าจะมีอิธิพลต่อการดำเนินงานของ FED ในระดับหนึ่ง”

แสดงว่าหลังจากนี้จนถึงสิ้นปีนี้ ประเมินกรอบแนวรับของราคาทองน่าจะอยู่ประมาณ 1,310 ดอลลาร์สหรัฐต่ออออนซ์ หรือบาทละ 21,700 บาท แนวต้านที่ 1,350 ดอลลาร์สหรัฐต่ออออนซ์ หรือบาทละ 22,300 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น