แนวโน้มความต้องการบริโภคผลผลิตทางการเกษตรในโลกเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกคงที่ การทำการเกษตรในอนาคตจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อการเลี้ยงประชากรโลก อีกทั้งช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าการเกษตรของไทยอีกด้วย ทั้งนี้ อีไอซี มองว่าไทยมีศักยภาพในด้านนี้ โดยภาคการเกษตรไทยควรมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ เช่น การแนะนำการปลูกพืชให้เหมาะสมต่อพื้นที่ การสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรเพื่อให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เร็วขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ ยังมองว่าเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัปสายเทคโนโลยีการเกษตรที่จะพัฒนาระบบซึ่งออกแบบเฉพาะให้เหมาะสมต่อพันธุ์พืช และสภาวะอากาศของไทยในราคาไม่สูงนัก
ในอนาคตความต้องการบริโภคผลผลิตทางการเกษตร และเนื้อสัตว์ต่อคนจะเพิ่มขึ้นมากจากจำนวนประชากรโลก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประมาณการว่า ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นราว 35% เป็น 9.7 พันล้านคน ในปี 2050 นอกจากนี้ ด้วยรายได้ต่อคนที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้ประชากรชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่มีประชากรจำนวนมาก เช่น จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเปลี่ยนพฤติกรรมมาบริโภคอาหารที่ดีขึ้น โดยคาดว่าการบริโภคเนื้อสัตว์ต่อคนจะเพิ่มขึ้นราว 1.2% ต่อปี และการเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะยิ่งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเป็นอาหารสูงขึ้นตามไปด้วย โดยทั่วไปแล้วเนื้อสัตว์ 1 กิโลกรัม ต้องใช้ผลผลิตทางการเกษตรราว 2-7 กิโลกรัม ตัวอย่างที่สำคัญ คือ ภายหลังจากที่ประชากรจีนมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภคเนื้อสัตว์ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน (รูปที่ 1) โดยในปี 2015 จีนต้องนำเข้าธัญพืชมาบริโภคในประเทศถึง 40% ซึ่งต่างจากในอดีตที่จีนเคยมีสถานะเป็นผู้ส่งออก
การทำการเกษตรด้วยวิธีเดิมจะไม่สามารถให้ผลผลิตที่เพียงพอต่อการเลี้ยงประชากรโลกได้ ด้วยความต้องการบริโภคผลผลิตทางเกษตรที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกของโลกมีแนวโน้มคงที่ (รูปที่ 2) เกษตรกรจึงต้องหาวิธีในการเพาะปลูกแบบใหม่เพื่อที่จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ โดยปัจจุบันการทำการเกษตรทั่วโลกยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก โดยระบบการจัดการน้ำคาดว่ายังมีการใช้น้ำอย่างไม่เกิดประโยชน์ถึง 90% อีกทั้งฟาร์มทั่วโลกกว่า 40% ใช้ปุ๋ย และสารเคมีมากเกินไป ทำให้ดินเสีย และส่งผลกระทบต่อผลผลิตต่อไร่ในอนาคต ในขณะที่ฟาร์มบางแห่งก็ใช้ปุ๋ยน้อยเกินไปจนทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ภาคเกษตรได้ใช้การตัดแต่งพันธุกรรม และการผสมข้ามพันธุ์เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่ทนต่อสภาพอากาศ และให้ผลผลิตสูง แต่เทคโนโลยีดังกล่าวได้ถูกพัฒนามานานแล้ว และไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการทางด้านผลผลิตทางการเกษตรที่จะเพิ่มขึ้นกว่า 70% ใน 35 ปีข้างหน้าได้
การทำการเกษตรจึงต้องมีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นเพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีอันเป็นความหวังที่จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ คือ Precision Agriculture ซึ่งจะทำให้ลักษณะการทำการเกษตรในอนาคตคล้ายกับการดำเนินงานในอุตสาหกรรมในแง่ที่มีการตรวจวัดตัวแปรต่างๆ เช่น ค่าความชื้น และคุณสมบัติทางแร่ธาตุของดิน การให้น้ำ และปุ๋ยเพื่อให้สภาพแวดล้อมต่างๆ อยู่ในจุดที่สร้างผลผลิตต่อไร่สูงสุด (รูปที่ 3) โดยเทคโนโลยีดังกล่าว ประกอบด้วย 1.) Precision Planting เป็นการลงเมล็ดพืชในอัตราที่แตกต่างกันในฟาร์ม โดยลงเมล็ดพืชที่ค่อนข้างหนาแน่นในพื้นที่ซึ่งดินมีคุณภาพสูง และลงเมล็ดพืชที่มีลักษณะพันธุกรรมที่ต่างกันให้เหมาะสมต่อพื้นที่บริเวณต่างๆ ของฟาร์ม 2.) Precision Fertilizing เป็นการให้ปุ๋ยในปริมาณที่แตกต่างกันในแต่ละส่วนของฟาร์ม ตามธาตุในดินของพื้นที่นั้นๆ 3.) Precision Spraying ทำการวิเคราะห์ และเน้นฉีดสารเคมีในพื้นที่ที่มีวัชพืชหนาแน่น ทำให้สามารถลดการใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืชราว 60% และ 4.) ระบบ Precision Irrigation ที่ใช้การวิเคราะห์น้ำในดิน สภาพอากาศเพื่อการปล่อยน้ำให้ดินมีระดับความชื้นที่เหมาะสม
ทั้งนี้ หนึ่งในฟาร์มที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ คือ Jones Enterprise ซึ่งมีธุรกิจฟาร์มกว่า 58,000 เอเคอร์ในสหรัฐอเมริกา โดย Jones Enterprise ได้เลือกวิธีการ Precision Planting ซึ่งใช้ multi-hybrid seed planter เพื่อแยกปลูกเมล็ดเป็น 2 แบบ คือ แบบที่ใช้น้ำน้อย และแบบปกติ การปลูกแบบดังกล่าวทำให้ผลผลิตต่อไร่ของข้าวโพดในฟาร์มเพิ่มขึ้น 12 บุชเชลต่อเอเคอร์ และปัจจุบัน Jones Enterprise อยู่ระหว่างการประเมินการใช้ Precision Fertilizing โดย Trimble ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีการเกษตรประเมินว่า หากมีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้จะช่วยลดต้นทุนราว 10% และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ราว 10%
ระบบการประมวลผลข้อมูล และจัดเก็บข้อมูลทางอากาศจากโดรน และดาวเทียม จะให้ข้อมูลในการตัดสินใจเพื่อวางแผนการผลิต และการเก็บเกี่ยวได้แม่นยำมากขึ้น การรวบรวมข้อมูลใน sensor การเชื่อมต่อข้อมูลกับระบบ Precision Agriculture ร่วมกับการเก็บข้อมูลจากการใช้โดรน และดาวเทียม จะทำให้ได้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้วิเคราะห์แบบ Algorithm ซึ่งทำให้สามารถตรวจสอบฟาร์มแบบเรียลไทม์ และตอบสนองต่อเหตุการณ์ล่วงหน้า เช่น การเปลี่ยนแปลงเวลาในการเพาะปลูก หรือการเก็บเกี่ยวเมื่อเกิดความเสี่ยงจากสภาวะอากาศสูง โดยหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ให้บริการด้านการจัดการข้อมูลด้านการเกษตรอย่างครบวงจร คือ “ConnectedFarm” ของ Trimble ที่ให้บริการข้อมูลการพยากรณ์สภาพอากาศ การตรวจสอบคุณภาพดิน และพืชผลทางการเกษตร รวมถึงทำรายงานสรุปคุณภาพพืชผลทางการเกษตรระหว่างฤดูกาล การตรวจสอบฟาร์มผ่านดาวเทียม และคำนวณผลกำไรให้เกษตรกร
นอกจากนี้ การเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น การใช้รถแทรกเตอร์ขนาดเล็กแบบไม่มีคนขับก็จะช่วยลดความเสียหาย และเพิ่มผลผลิตได้อีกทางหนึ่ง โดยการใช้รถแทรกเตอร์ดังกล่าวจะช่วยลดความเสียหายจากการกดทับ และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ราว 10-15% เนื่องจากที่ผ่านมา การใช้รถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ก่อให้เกิดการบดอัดดินซึ่งทำให้ความสามารถในการกักเก็บน้ำ ธาตุอากาศ และดินลดลง ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของพืช ตลอดจนช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของภาคเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่คนหนุ่มสาวทั่วโลกทำงานในภาคการเกษตรน้อยลง ซึ่งจากข้อมูลของ USDA อายุเฉลี่ยของเกษตรกรในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 58 ปี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากว่า 30 ปี
ไทยสามารถเพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตรหากมีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ ภาคเกษตรของไทยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้น้อย จึงทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำ ตัวอย่างเช่น ข้าวโพดของไทยที่มีผลผลิตต่อไร่เพียง 644 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่ข้าวโพดของอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่มีการนำเทคโนโลยีการเกษตรมาใช้สูงมีผลผลิตต่อไร่สูงถึง 1,691 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ สาเหตุที่ไทยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้น้อย เนื่องจากไทยยังทำการเกษตรแบบแปลงเล็ก การนำเทคโนโลยีมาใช้จึงไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน อย่างไรก็ดี การส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกันปลูกพืชขนาดใหญ่ เช่น การให้ชาวนาทำลายคันนา และทำนาร่วมกัน จะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของการพัฒนาการเกษตรของไทยในอนาคต โดยในอดีตญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ส่งเสริมการทำนาแปลงใหญ่ โดยให้เงินเป็นแรงจูงใจในการรวมนาในแต่ละขั้น ทั้งนี้ รัฐบาลไทยก็ได้ส่งเสริมวิธีการแบบนี้เช่นกัน แต่ไม่ได้รับการตอบรับมากนัก โดยปัจจุบันมีการรวมกันเข้าร่วมนาแปลงใหญ่ราว 8.4 แสนไร่ สำหรับเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้เพิ่มเติมควรจะพิจารณาถึงผลตอบแทนคุ้มค่าต่อการลงทุน และภาครัฐควรให้คำแนะนำในช่วงแรก
ภาคการเกษตรของไทยควรมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบทั้งในแง่การแนะนำการปลูกพืชให้เหมาะสมต่อพื้นที่ และการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ โดยภาครัฐควรสนับสนุนงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีการเกษตร เช่น การวิจัยเพื่อหาสภาวะของความชื้น และแร่ธาตุของดินที่เหมาะสมต่อพืชแต่ละชนิด และการกำหนดโซนของพื้นที่ที่เหมาะต่อการปลูกพืชแต่ละชนิด นอกจากนี้ รัฐควรให้การสนับสนุนการทำการเกษตรแปลงใหญ่ โดยให้ปัจจัยทางการเงินเป็นแรงจูงใจในการทำการเกษตรแบบแปลงรวมเป็นขั้นๆ ในขณะเดียวกัน เกษตรกรควรจะทดลองและพัฒนาการทำเกษตรด้วยวิธีการใหม่ๆ และเปิดรับต่อการเปลี่ยนแปลง
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อการเกษตรควรสร้างความเข้าใจทางด้านเทคโนโลยี และการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเพื่อให้มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยอาจรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อให้ความรู้ในเรื่องการนำเข้าเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อพันธุ์พืช และสภาพอากาศของไทยมาใช้ เพื่อให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เร็วขึ้น ซึ่งทำให้ธุรกิจเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรทางการเกษตร หรือปุ๋ยเคมีสามารถขยาย และต่อยอดธุรกิจได้เพิ่มขึ้น
สตาร์ทอัปสายเทคโนโลยีการเกษตรมีโอกาสได้รับอานิสงส์จากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคเกษตร โดยสามารถพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ รวมถึงระบบฐานข้อมูล และการพยากรณ์ที่อาจมีราคาถูกกว่าการนำเข้า และเหมาะสมต่อการเกษตรของไทย เช่น การพัฒนาอุปกรณ์วัดระดับแร่ธาตุ และความชื้นของดิน และเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนที่เกษตรกรมีอยู่แล้ว เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลโดยใช้แอปพลิเคชันได้ในราคาไม่แพงนัก