xs
xsm
sm
md
lg

เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินหุ้นไทยสัปดาห์นี้ผันผวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ (10-14 ต.ค.) มีความผันผวนจากปัจจัยต่างประเทศ ทั้งเรื่องการโต้วาที และประชุม Fed การประชุมผู้ผลิตน้ำมัน นักลงทุนยังรอดูสถานการณ์ และปรับพอร์ตรับ Fed ขึ้นดอกเบี้ย แนะ “ถือ” รอดูความชัดเจนของตลาด หุ้นเด่น CPALL EA BANPU KCE MINT SCC SLP TCAP มองกรอบดัชนีสัปดาห์นี้ที่ 1,477-1521 จุด

ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ KTBST (Win Udomrachtavanich, Ph.D. Executive Chairman KTB Securities (Thailand ) Co., Ltd.) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้ (10-14 ต.ค.) จะยังมีความผันผวนสูงจากหลายปัจจัย ซึ่งหลักๆ จะเป็นทิศทางราคาน้ำมันดิบ การคาดการณ์ผลประชุม Fed และผลการโต้วาที (debate) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (เช้าวันจันทร์ที่ 10) ต้องดูว่า น้ำหนักของปัจจัยเหล่านี้จะมีผลไปในทางใดของตลาด ส่วนตัวเลขการจ้างงานที่ออกมาต่ำกว่าคาด คงไม่ได้ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยที่คาดกันว่าจะเป็นเดือน ธ.ค.นั้น เลื่อนออกไป แต่ดัชนีฯ อาจเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน เพราะสถานการณ์แบบนี้นักลงทุนยังคงรอดูทิศทางมากกว่าเข้าซื้อ หรือขาย

ทั้งนี้ ตัวแปรสำคัญๆ ของตลาดในสัปดาห์นี้ บล. KTBST ให้น้ำหนักสำคัญกับ 3 ตัวแปร คือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ จากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม ที่เพิ่มขึ้น 1.56 แสนตำแหน่งในเดือน ก.ย. แม้จะต่ำกว่าตลาดคาด แต่ผนวกกับตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ และการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ Fed ยังบ่งชี้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้อย่างน้อยหนึ่งครั้ง โดย KTBST คาดว่า จะเป็นเดือน ธ.ค. การปรับตัวขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ สวนทางกับราคาทองคำที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ข่าวที่ว่าธนาคารกลางบางประเทศ (ญี่ปุ่น และ ECB) กำลังพิจารณาปรับลดวงเงิน QE ลง ทั้งทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ และการลดวงเงิน QE ถ้าเกิดจริง จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยต่อตลาดหุ้นของทุกประเทศ เพียงแต่ว่าตลาดหุ้นประเทศใดจะรักษากระแสเงินลงทุน (Fund Flow) จากต่างประเทศไว้ได้มากกว่ากัน

ปัจจัยต่อมา คือ การกำหนดโควต้าของผู้ผลิตน้ำมัน บล. KTBST ประเมินว่า ตัวแปรนี้มีผลต่อตลาด เพราะเป็นตัวแปรที่คาดทิศทางยากจากข่าวที่ออกมา จะมีการลดกำลังการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยแยกเป็นการลดกำลังการผลิตของ OPEC และ Non-OPEC 0.7 และ 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ผู้เข้าร่วมโครงการนี้ที่เรารวบรวมมา สำหรับ Non-OPEC ประกอบด้วย รัสเซีย โอมาน อาเซอร์ไบจาน คาซัคสถาน ที่มีกำลังการผลิตรวม 13.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 15% (รวมรวมโดย www.tradingeconomics.com) ของความต้องการใช้น้ำมันดิบของโลกในไตรมาส 2 ของปี 2559 หรือเพียงบางส่วนของผู้ผลิตน้ำมัน หากการประชุม 12 ต.ค. ล้มเหลว หรือนักลงทุนเห็นว่า ปริมาณการผลิตที่ลดลงไม่มีนัยต่อราคาน้ำมัน ก็จะมีผลต่อราคาน้ำมันดิบที่อาจร่วงกลับมาซื้อขายในกรอบ 40-45 เหรียญสหรัฐได้ แต่หากมีโอกาสที่จะตกลงกันได้สำเร็จ ราคาน้ำมันจะมีโอกาสขึ้นไปแตะ 55 เหรียญสหรัฐ ได้ในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คาดเดาได้ยาก และมีผลกับตลาดหุ้น

ปัจจัยสุดท้าย คือ การซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งจาก 2 ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น จะมีผลต่อการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ บล.KTBST มองว่า จากการซื้อขายช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนกลุ่มนี้ยังมีแนวโน้มที่จะขายมากกว่าซื้อ ดังนั้น หากตลาดหุ้นไทยไม่ได้เคลื่อนไหวในทางบวกต่อเนื่อง หรือ sideway จะเร่งให้มีการขายหุ้นออกมามากขึ้น

ดังนั้น กลยุทธ์ลงทุนสัปดาห์นี้ปัจจัยหลายตัวที่ซับซ้อนดังที่กล่าวข้างต้น และไม่ได้เกิดในเวลาเดียวกัน จึงคาดว่านักลงทุนน่าจะรอให้ปัจจัยเหล่านี้มีความชัดเจน การปรับพอร์ตรับ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. น่าจะยังดำเนินต่อ และอาจเห็นนักลงทุนต่างประเทศมียอดซื้อขายหุ้นเป็นให้เห็นบ่อยขึ้น ตอกย้ำว่า ปัจจัยบวกตัวสำคัญของตลาดหุ้น คือ แรงซื้อของนักลงทุนต่างประเทศกำลังน้อยลงไปทุกที หากไม่ได้นักลงทุนสถาบันในประเทศเข้ามาช่วยซื้อในสัปดาห์นี้ SET Index อาจปรับตัวลงมากกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา”

“การลงทุนในช่วงเวลาแบบนี้ จึงประมาทไม่ได้ แม้เราไม่ได้มองตลาดเลวร้าย แต่ความไม่แน่นอนในเรื่องสำคัญๆ ทำให้เรามองว่า ไม่ต้องรีบซื้อ หรือขาย หรือแนะนำให้ “ถือ” ไว้ ซึ่งภาพในทางเทคนิคเองก็ส่งสัญญาณว่า จะมีการพักฐาน ยกเว้นว่า จะบวกในวันจันทร์ ส่วนนักเก็งกำไรช่วงสั้นๆ ควรเลือกหุ้นเข้าลงทุนลักษณะเก็งกำไร โดยพิจารณาจากข่าวบวกเฉพาะตัว เก็งงบไตรมาสสาม และหุ้นที่ผลการดำเนินงานยังเติบโตได้ดี โดยมองกรอบการเคลื่อนไหวของ SET Index ในสัปดาห์นี้ที่ 1,477-1521 จุด”

สำหรับหุ้นที่น่าลงทุนสัปดาห์นี้ ได้แก่ หุ้นที่คาดจ่ายเงินปันผลดี สม่ำเสมอ : DIF TMT หุ้นที่มีรายได้-กำไร ไม่แกว่งตัวตามตลาด : CPALL EA หุ้นกลุ่มส่งออก หรือรายได้อิงดอลลาร์สหรัฐ : BANPU KCE MINT หุ้นในพอร์ตที่ บล.KTBST วิเคราะห์ : SCC SLP TCAP หุ้นที่มีประเด็นบวกอื่นๆ หรือราคาลงมามาก : UNIQ


กำลังโหลดความคิดเห็น