ก.ล.ต.นัดสมาคมโบรกฯ พรุ่งนี้ คาดถก พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่ เพื่อสร้างมาตรฐาน โดยเฉพาะในประเด็นการเปิดเผยข้อมูลของ บจ. เตรียมจัดทำคู่มือแจกในเร็วๆ นี้ ด้านนักวิเคราะห์ฯ วอนเปิดทางใช้ข้อมูล Company visit ยอมรับมีความกังวลเกี่ยวกับขอบเขตของการใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ หรือเผยแพร่
นายปริย เตชมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (27 ก.ย.) ทางสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เชิญตัวแทนจากสำนักงาน ก.ล.ต.ไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฉบับใหม่ ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะในประเด็นการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน
ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต.ก็จะใช้โอกาสดังกล่าวชี้แจงอธิบายทำความเข้าใจถึงหลักการของกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่ง เพื่อให้มีการทำงานได้อย่างถูกต้อง
“ก็คงเอาหลักการของกฎหมายไปเล่าให้ฟัง และประเด็นที่สำคัญต่างๆ เราก็ต้องทยอยสื่อสารกับ Stakeholder ที่เกี่ยวข้อง ให้ทั่วถึง และตอบคำถาม” นายปริย กล่าว
ขณะที่ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางสมาคมนักวิเคราะห์ฯ ได้มีการพานักวิเคราะห์ไปพบเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำบทวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดทรัพย์ ฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่ ซึ่งทางสมาคมฯ อยู่ระหว่างการจัดทำคู่มือการทำบทวิเคราะห์ให้กับนักวิเคราะห์ คาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม มองว่าแนวทางการทำบทวิเคราะห์ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก เป็นเพียงการปรับปรุงให้มีความถูกต้องมากขึ้น เช่น การเผยแพร่ข้อมูลที่จะต้องมีความถูกต้อง ครบถ้วน และมีปัจจัยสนับสนุน การลงโทษกรณีใช้ข้อมูลภายใน (อินไซด์) เป็นต้น แต่การทำงานของนักวิเคราะห์ก็ยังคงเหมือนเดิม
“ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการทำมาตรการ ซึ่งสัปดาห์ที่แล้ว เราก็พานักวิเคราะห์ไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายใหม่นี้ ในแนวทางการทำบทวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ใหม่ ก็จะมีเรื่องของข้อมูลที่ถูกต้อง และข้อมูลภายในที่ไม่ควรใช้ แต่แนวทางการทำงานก็ยังเหมือนเดิม” นายไพบูลย์ กล่าว
ขณะที่ นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย แสดงความเห็นด้วยกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฉบับใหม่ เพราะเชื่อว่า ไม่ได้ทำให้ขั้นตอนต่างๆ ในการทำบทวิเคราะห์ยากขึ้นแต่อย่างใด โดยเฉพาะกรณีของการจัดทำบทวิเคราะห์ของ บล.กสิกร ได้ทำตามกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต.อยู่แล้ว
“ที่ผ่านมา เราก็ทำตามกฎ ก.ล.ต.อยู่แล้ว และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็พูดคุยกับ ก.ล.ต.มาตลอด ซึ่งการทำบทวิเคราะห์ เราก็ทำอยู่บนพื้นฐานที่แท้จริง และตราบใดที่เรายังอยู่บนพื้นฐานนี้อยู่ก็ไม่มีปัญหา ซึ่งเรามองว่า พ.ร.บ.ฉบับใหม่เป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้ทุกคนมาอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเป็นการจัดการปัญหาที่ต้นเหตุ และลดผลกระทบจากการชี้นำที่มากเกินไป จากการกระทำของผู้ไม่มีใบอนุญาต และมีการชี้นำ” นายกวี กล่าว
ด้าน นายรณกฤต สารินวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.คันทรี่ กรุ๊ป มองว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้อาจจะส่งผลทำให้มีบทวิเคราะห์หลักทรัพยออกมาน้อยลง เนื่องจากโดยปกติแล้ว การจะทำบทวิเคราะห์นั้น นักวิเคราะห์จะต้องพูดคุยกับผู้บริหาร หรือเข้าไปทำ Company visit เพื่อสอบถามข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ หลังจากนั้น ก็นำข้อมูลที่ได้รับมาประกอบกับประสบการณ์ในการวิเคราะห์ราคาพื้นฐานของแต่ละบริษัท
แต่ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ กำหนดไว้ว่า ข้อมูลทุกอย่างจะต้องมีการแจ้งตลาดก่อน จึงจะสามารถนำมาใช้ได้ หรือนำมาเขียนได้ ซึ่งในตลาดหุ้นไทยมีบริษัทจดทะเบียนอยู่กว่า 600 บริษัท และในแต่ละวันมีการแจ้งข่าวต่อตลาดหลักทรัพย์น้อยมาก ส่งผลให้แนวโน้มบทวิเคราะห์คงจะมีแนวโน้มที่ลดลง
“ก่อนหน้านี้เป็น 10 ปีแล้ว เราใช้การพูดคุยกับผู้บริหาร ใช้การเข้าไป Company visit และข่าวสารจากหน้าหนังสือพิมพ์ ประกอบกับประสบการณ์ของเรามาวิเคราะห์หาพื้นฐานการเติบโต ราคาเหมาะสม แต่หลังจากนี้เราจะทำได้ยากขึ้น เพราะข้อมูลที่ได้รับมาต้องมาตรวจสอบก่อนว่า ข้อมูลนั้นจริงหรือไม่ และรอข้อมูลที่แจ้ง ตลท.แล้วเท่านั้น ซึ่งแท้จริงแล้ว ต่อวันบริษัทจดทะเบียนแจ้งข้อมูลต่างๆ มาน้อยมาก เราจึงมองว่า บทวิเคราะห์ที่ออกมาคงจะน้อยลง” นายรณกฤต กล่าว
ดังนั้น จึงขอเสนอ ก.ล.ต.ให้สามารถนำข้อมูลจากการเข้าไปทำ Company visit หรือจากการโทรเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารที่มีที่มาที่ไปชัดเจน และแหล่งข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์นำมาใช้ประกอบในบทวิเคราะห์ได้
ส่วน นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคระห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า นักวิเคราะห์ยังมีความกังวลเกี่ยวกับขอบเขตของการใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ หรือเผยแพร่ เช่น ข้อมูลจากการเข้าไปทำ Company visit ซึ่งทาง บล.ทิสโก้ เข้าไปทำเพียงรายเดียว แล้วนำข้อมูลที่ได้มาใช้ถือว่าผิดหรือไม่
ทั้งนี้ ในช่วงแรกๆ อาจจะส่งผลให้ภาพรวมบทวิเคราะห์หุ้นต่างๆ ออกมาน้อยลง แต่ระยะยาว หากมีความชัดเจนของกฎเกณฑ์ต่างๆ แล้ว เชื่อว่าจะเป็นการเพิ่มมาตรฐานบทวิเคราะห์ หรือการเผยแพร่ของสื่อต่างๆ ที่ดีขึ้น
“เบื้องต้น เรากังวลเพียงเรื่องของขอบเขตการใช้ข้อมูลว่าเป็นอย่างไร เพราะว่าตอนนี้ยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ ซึ่งช่วงแรกอาจจะทำให้บทวิเคราะห์น้อยลง แต่ระยะยาว เราเชื่อว่า จะเป็นการยกระดับมาตรฐานของการข่าวสารต่างๆ มากขึ้น” นายอภิชาติ กล่าว