xs
xsm
sm
md
lg

WHO ชี้ “บุหรี่” ขวางพัฒนาประเทศ แนะ 6 วิธีช่วยไทยคุมยาสูบอย่างสตรอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


WHO ชี้ “บุหรี่” ขัดขวางการพัฒนาประเทศ ทำคนไทยยากจน เพิ่มอัตราตายก่อนวัยอันควร ย้ำ ต้องลดการบริโภคยาสูบ แนะ 6 วิธีเพิ่มประสิทธิภาพควบคุมยาสูบ ต้องใช้ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ขึ้นภาษียาสูบ เข้ม กม. พื้นที่สาธารณะปลอดบุหรี่ ด้าน สธ. เร่งดันร่างกฎหมายฉบับใหม่ให้เสร็จใน 6 เดือน

วันนี้ (27 ก.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ในงานประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เรื่อง “นโยบายควบคุมยาสูบ กับ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย ดร.นิมา แอสการี รักษาการผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวในงานเสวนา เรื่อง นโยบายควบคุมยาสูบกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ว่า ยาสูบเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะการบริโภคยาสูบเป็นสาเหตุของปัญหาความยากจน และยังเป็นสาเหตุของการตายก่อนวัยอันควร ซึ่งการแก้ไขปัญหายาสูบมีแนวทางมาตรการของ “กรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบ” ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 180 ประเทศ ที่เข้าร่วม โดยมาตรการควบคุมยาสูบที่สำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การขึ้นภาษียาสูบ การห้ามทำการตลาด/โฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบและอุตสาหกรรมยาสูบ ติดตามการบริโภคยาสูบและนโยบายป้องกันการใช้ยาสูบ ปกป้องประชาชนจากผลกระทบของควันบุหรี่ ช่วยเหลือประชาชนให้สามารถเลิกเสพยาสูบ เตือนประชาชนเกี่ยวกับอันตรายจากยาสูบ และการสนับสนุนให้ผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับยาสูบ มีทางเลือกในการประกอบอาชีพอื่น ๆ ที่เหมาะสม เป็นต้น

“ประเทศไทยเป็นแบบอย่างด้านกฎหมายและการปฏิบัติเรื่องการควบคุมยาสูบ เช่น การขยายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ขนาด 85% การตั้งหน่วยงานที่สนับสนุนการควบคุมยาสูบ คือ สสส. และศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (สายด่วนเลิกบุหรี่ โทร.1600) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การบริโภคยาสูบยังคงเป็นปัญหาสำคัญต่อสาธารณสุขและการพัฒนาของประเทศไทย ดังนั้น การลดการบริโภคยาสูบคือ หนทางในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจะช่วยรักษาชีวิตและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งองค์การอนามัยโลกมีข้อแนะนำแก่ประเทศไทยในการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมยาสูบให้ดียิ่งขึ้น คือ 1. ให้รีบนำ “ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่” มาบังคับใช้โดยเร็ว 2. ขึ้นภาษียาสูบให้เหมาะสมกับอัตราเงินเฟ้อ และขึ้นภาษีบุหรี่/ยาเส้นมวนเอง 3. ยกระดับความเข้มงวดของการควบคุมยาสูบในต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกล  4. บังคับใช้กฎหมายพื้นที่สาธารณะปลอดบุหรี่ 100% 5. ใช้สื่อประชาสัมพันธ์ตอกย้ำความน่ากลัวของภัยจากยาสูบ และ 6. ขยายขอบเขตบริการสนับสนุนการเลิกบุหรี่” ดร.นิมา กล่าว

นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การควบคุมการบริโภคยาสูบ เป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยต้องมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมยาสูบและเท่าทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบ ที่เน้นในกลุ่มผู้หญิงและเยาวชนเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ให้มีผลบังคับใช้ โดยจะผลักดันให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งหลังจากลงประชามติวันที่ 7 ส.ค. 2559 จะเดินหน้า พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งต้องอาศัยพลังจากเครือข่ายทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนและต่อต้านการแทรกแซงจากบริษัทยาสูบข้ามชาติ ส่วนมาตรการที่ต้องดำเนินการต่อคือ มาตรการ 3 ลด 3 เพิ่ม คือ ลดผู้เสพรายใหม่ ลดผู้เสพรายเก่า ลดการรับความบุหรี่มือสอง เพิ่มกลไกการป้องกันการแทรกแซงจากธุรกิจยาสูบ เพิ่มผู้ขับเคลื่อน ระดับจังหวัดพื้นที่และเพิ่มนวัตกรรมควบคุมยาสูบ ซึ่งช่วยให้จำนวนผู้เสพยาสูบที่จากเดิมเพิ่มขึ้นเป็น 11.50 ล้านคน หรือ 21.40% ในปี 2554 สามารถลดลง เหลือ 1.9 ล้านคน หรือ 19.9% ในปี 2558 เรียกว่า มีผลต่อการลดบริโภคยาสูบในเยาวชนและผู้ใหญ่ที่ใช้ยาเส้น ดังนั้น ควรมีการดำเนินการต่อด้วย

ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า การลดการบริโภคยาสูบถือเป็นต้นน้ำในการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะจากการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ตั้งแต่ในระยะแรก ๆ โดยนำเด็กที่มีปัญหามาทำกิจกรรมที่ดี มีการรณรงค์ให้ความรู้กันเองภายในกลุ่มนักเรียน พบว่า การตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติดนั้นลดลง หรือไม่เจอปัสสาวะสีม่วง ดังนั้น การทำลดการบริโภคยาสูบจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากทำเรื่องบุหรี่ไม่สำเร็จ การพัฒนาที่ยั่งยืนก็จะไม่เกิด

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีชาวไร่ยาสูบและผู้ค้ายาสูบรายย่อยคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ และยังไม่เข้าใจในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว นพ.สุเทพ กล่าวว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวอยู่ในขั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว ส่วนข้อคัดค้านนั้นที่ผ่านมาก็มีความพยายามในการสร้างความเข้าใจ แต่ช่องว่างในการไปทำความเข้าใจนั้นยังห่างอยู่มาก ซึ่งในวันที่ 1 ส.ค. 2559 สธ.จะหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชาวไร่ยาสูบ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น