xs
xsm
sm
md
lg

หนุนใช้นโยบายคลังกระตุ้น ศก.ลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ รบ.ต่อแวต 7% อีก 1 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้บริหาร KBANK หนุนใช้นโยบายการคลังกระตุ้น ศก.เสริมความมั่นใจเอกชน หลังภาคการลงทุนยังต่ำ ขณะที่ ครม.เห็นชอบคงภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ออกไปอีก 1 ปี ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ หวังช่วงประคอง ศก.ที่กำลังฟื้นตัว

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน บมจ.ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK เปิดเผยว่า ธนาคารมองเห็นถึงดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนถึงการนำเข้าของไทยที่น้อยมาก แสดงถึงการลงทุนของภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ คาดว่าเกิดจากความไม่มั่นใจของภาคเอกชนเกี่ยวกับแผนโรดแมปของประเทศไทย และการรอความชัดเจนต่างๆ ทั้งการเลือกตั้ง การลงทุนโครงการต่างๆของภาครัฐ และการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจไทย ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เอกชนมีความมั่นใจมากขึ้น คือ การใช้นโยบายการคลังเพิ่มเติมออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมองว่าเป็นการช่วยเศรษฐกิจไทยได้อย่างดี

ขณะที่การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพรุ่งนี้ (14 ก.ย.) คาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.5% ในการประชุมในวันพรุ่งนี้ และคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับดังกล่าวไว้ที่ 1.5% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ โดยมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น ไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างดี อีกทั้งจะต้องดูแนวโน้มของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในช่วงที่เหลือของปีนี้

ทั้งนี้ ธนาคารมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีการปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้เพียงครั้งเดียวในช่วงเดือน ธ.ค.2559 หรืออย่างช้าในช่วงต้นปี 2560 จากเดิมที่คาดว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 2 ครั้งในเดือน ก.ย. และ พ.ย. แต่เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ 2.0% โดยปัจจุบันอยู่ที่ 1.6% ทำให้ธนาคารสหรัฐฯ มีโอกาสที่จะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปก่อน

ด้านภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มองว่ายังอยู่ในกรอบขยายตัว 2.5-3.0% โดยคาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 3/59 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3% โดยปัจจัยหนุนหลักยังคงเป็นภาคการท่องเที่ยว และการลงทุนของภาครัฐที่ยังช่วยเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ตามการคาดการณ์ แต่ยังมีปัจจัยกดดัน คือ ภาคการส่งออก ที่คาดว่าจะติดลบ 2% เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับค่าเงินบาทนั้น ธนาคารประเมินว่า สิ้นปีนี้อยู่ที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปีหน้าจะอยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยประเมินว่าค่าเงินบาทช่วงนี้ยังผันผวนตามกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าในตลาดเกิดใหม่ โดยในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเห็นได้จากเม็ดเงินที่อยู่ในตลาดตราสารหนี้ลดลงมาอยู่ที่ 7.4 แสนล้านบาท หรือลดลงไปมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่านักลงทุนต่าชาติมีการโยกเงินเข้าไปในตลาดหุ้น ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นในช่วงก่อนหน้านี้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมตรี (ครม.) เป็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ในการขยายเวลาการจัดเก็บภาษีมูลเพิ่มในอัตรา 7% ออกไปอีก 1 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.2559 ถึง 30 ก.ย.2560 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศให้ขยายตัวต่อเนื่อง จากร้อยละ 2.8 ในสิ้นปี 58 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.2% ในไตรมาส 1 ของปี 2559 และขยายตัว 3.5% ในไตรมาส 2 ปี 2559 เพื่อต้องการให้การบริโภค การลงทุน เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีปัญหา และส่งผลกระทบต่อการส่งออก ยอมรับการคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้ 2.569 แสนล้านบาทต่อปี แต่เพื่อประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อเนื่อง และไม่กระทบต่อการบริโภคของประชาชน

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจ และสังคมภายในท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านการตั้งกองทุนร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาล กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Matching Fund) วงเงิน 19,795 ล้านบาท โดยรัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำเงินมาสมทบฝ่ายละครึ่งหนึ่ง จึงทำให้รัฐบาลจัดสรรงบกลางสมทบประมาณ 9,897 ล้านบาท และจัดตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการลงทุน ด้วยการให้ เทศบาล อบต. อบจ. จำนวน 7,851 แห่ง เสนอประเภทโครงการลงทุนมาให้คณะกรรมการพิจารณา เพื่อนำเงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน เช่น สร้างถนน สะพาน แหล่งน้ำ การท่องเที่ยวชุมชน สิ่งอำนวยความสะดวกในชุมชน เป็นการเสนอความต้องการจากชุมชน และต้องไม่ซ้ำซ้อนกับการจัดสรรงบประมาณลงทุนในปี 59, 60 แต่สามารถต่อยอดกับโครงการเดิม เพื่อให้เติบโตขึ้นได้ โดยต้องก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 และเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จในกลางปี 2560

ครม.ได้กำหนดกรอบการใช้เงินลงทุนผ่านกองทุนร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาล กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Matching Fund) วงเงิน 19,795 ล้านบาท สำหรับ อบต.ขนาดเล็กลงทุนไม่เกิน 2 ล้านบาท, อบต.ขนาดกลางลงทุนไม่เกิน 3 ล้านบาท, เทศบาล, เทศบาลนคร ลงทุนไม่เกิน 7 ล้านบาท, อบจ.ลงทุนไม่เกิน 20 ล้านบาท จึงเริ่มให้ อปท.เสนอโครงการลงทุนมาให้คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการลงทุนได้หลายโครงการ เมื่อทุกหน่วยงานลงทุนได้ทั้งหมด จะเกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเพิ่มอีก 2-3 รอบ และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจาก อปท.ทั้งระบบมีเงินสะสมอยู่ประมาณ 2-3 แสนล้านบาท เมื่อปลดล็อกเรื่องดังกล่าว ทำให้นำเงินออกไปมาประโยชน์เพียงบางส่วนจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านการใช้เงินสะสมของ อปท. หวังช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และผู้พิการในท้องถิ่น ไม่รวม กทม. เมืองพัทยา กำหนดระยะเวลาดำเนินการในช่วงงบประมาณปี 2560 ด้วยการให้ อปท.ดำเนินโครงการพัฒนาการศึกษาท้องถิ่น การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาส การดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ กำหนดให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดเงื่อนไข เพื่อนำเงินสะสมของ อปท.ออกมาดูแลด้านสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น