“คลัง” กางแผนกู้ปีงบ 60 วงเงิน 9.57 แสนล้านบาท โดยเป็นการก่อหนี้ใหม่ 4.4 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ เผยกว่า 50% เป็นการออกพันธบัตรรัฐบาล ที่เหลือใช้หลากหลายวิธี ทั้งตั๋วเงินระยะสั้น กู้ธนาคาร ปลื้มต่างชาติให้ความสนใจ ปัจจุบันถือพันธบัตรรัฐบาลไทยกว่า 7 แสนล้านบาท ชี้ปลอดภัยสูง ความเสี่ยงต่ำ แม้อัตรา ดบ.จะต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ได้หารือผู้ร่วมตลาดการเงินเพื่อวางแผนระดมทุนในปีงบประมาณ 2560 ประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผู้ค้าหลักของกระทรวงการคลัง และนักลงทุนสถาบันอีก 150 ราย สำหรับแผนการระดมทุนของกระทรวงการคลังปีงบประมาณ 2560 วงเงิน 9.57 แสนล้านบาท เป็นการกู้เงินใหม่ 4.4 แสนล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้เก่า 5.17 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ แผนการกู้ของกระทรวงการคลัง จะเป็นการออกพันธบัตรรัฐบาล 5.5 แสนล้านบาท พันธบัตรออมทรัพย์จำนวนหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอให้ฝ่ายนโยบายเห็นชอบ และที่เหลือเป็นการกู้ด้วยการออกตั๋วเงินระยะสั้น การกู้เงินจากธนาคาร และการกู้ในรูปแบบอื่นๆ
นายสุวิชญ กล่าวว่า ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 หรือเดือน ต.ค.-ธ.ค.2559 กระทรวงการคลังจะกู้เงินจำนวน 1.5 แสนล้านบาท เป็นการกู้โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี, 10 ปี, 15 ปี, 20 ปี, 30 ปี และ 50 ปี เดือนละ 5-6 หมื่นล้านบาท โดยพันธบัตรแต่ละรุ่นจะเป็นไปตามความต้องการของตลาด
สำหรับใน 3 ไตรมาสที่เหลือของปีงบประมาณ 2560 จะมีการกู้โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลอีกไตรมาสละ 1.2-1.3 แสนล้านบาท ขึ้นอยู่กับรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บได้ หากสามารถจัดเก็บได้มากก็กู้น้อยลง แต่หากจัดเก็บได้น้อยก็ต้องกู้มากขึ้น เพื่อรักษาระดับเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
“คาดว่าในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 หรือเดือน ต.ค.-ธ.ค.2559 กระทรวงการคลังจะกู้เงินจำนวน 1.5 แสนล้านบาท เป็นการกู้โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี, 10 ปี, 15 ปี, 20 ปี, 30 ปี และ 50 ปี เดือนละ 5-6 หมื่นล้านบาท โดยพันธบัตรแต่ละรุ่นจะเป็นไปตามความต้องการของตลาด”
ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า นักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของไทย แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่มีความปลอดภัยความเสี่ยงเป็นศูนย์ โดยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ปัจจุบัน ผลตอบแทน 2.17% ขณะที่ประเทศเวียดนาม ผลตอบแทนอยู่ที่ 7% ฟิลิปปินส์ 4% มาเลเซีย 3.7% อินโดนีเซีย 7% เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน นักลงทุนต่างประเทศลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล 15-16% ของพันธบัตรรัฐบาลทั้งหมด หรือคิดเป็นวงเงิน 6-7 แสนล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างประเทศลงทุนในพันธบัตรแล้ว 4 หมื่นล้านบาท
นายสุวิชญ กล่าวว่า ความคืบหน้าของการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินการก่อสร้างปี 2558 จำนวน 15 โครงการ วงเงินลงทุน 2.97 แสนล้านบาท เบิกจ่ายล่าสุด เดือน ก.ค.2559 เบิกได้ 2.01 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 41.31% ของแผนการเบิกจ่ายปีงบประมาณ 2559
สำหรับโครงการลงทุนระยะเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคม 20 โครงการ วงเงินลงทุน 1.77 ล้านล้านบาท จำนวน 20 โครงการ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 5 โครงการ ผลการเบิกจ่ายล่าสุดเดือน ก.ค.2559 เบิกได้ 9,499 ล้านบาท หรือ 28.38% ของแผนการเบิกจ่ายปีงบประมาณ 2559 ที่เหลืออีก 7 โครงการอยู่ระหว่างขั้นตอนการประกวดราคา และอีก 8 โครงการอยู่ระหว่างเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ
อนึ่ง ก่อนหน้านี้บริษัท Moody’sInvestors Service (Moody’s) ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลไทยสกุลเงินต่างประเทศ และสกุลเงินบาทที่ระดับ Baa 1 โดยมีมุมมองความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพ ขณะเดียวกัน ยืนยันเพดานความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ระดับ A2 และสกุลเงินบาทที่ระดับ A1 พร้อมทั้งยืนยันเพดานเงินฝากธนาคารสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ระดับ Baa 1 และสกุลเงินบาทที่ระดับ A1
ทั้งนี้ มูดี้ส์ คาดว่า ปี 2559 และ 2560 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.8% และ 3% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับในปี 2558 เนื่องจากเห็นว่าไทยยังคงพึ่งพาการใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออกภาคบริการ มากกว่าการใช้จ่ายภาคเอกชน และการส่งออกสินค้า ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวไม่มีความแตกต่างจากช่วงที่ผ่านมา อย่างมีนัยสำคัญ