xs
xsm
sm
md
lg

เผยปัจจัยดุลบัญชีเดินสะพัดดึง Fund Flow ไหลเข้า คาดหากเฟดขึ้น ดบ. บาทอ่อนแตะ 36 บาท/ดอลล์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายแบงก์มองสถานการณ์ค่าเงินบาทยังผันผวน เนื่องจากปัจจุบัน ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลสูง ส่งผลให้ยังมีเงินไหลเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง และเงินบาทแข็งค่าขึ้น ย้ำเฟดขึ้น ดบ.ยังเป็นปัจจัยหลักต่อค่าเงิน หากเป็นไปตามคาดเงินบาทอาจอ่อนค่าแตะ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ในปลายปีนี้

นายสุธีร์ โล้วโสภณกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทขณะนี้ยังต้องระวังความผันผวน เนื่องจากปัจจุบัน ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลสูง ทำให้ยังมีเงินไหลเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

ขณะเดียวกัน การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ที่จะมีการพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยยังเป็นปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อค่าเงิน แต่โดยส่วนตัวมองว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยปลายปีนี้ และจะทยอยขึ้นดอกเบี้ยปี 2560 ซึ่งจะส่งผลให้เม็ดเงินไหลออกในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ แต่ไม่รุนแรง เนื่องจากที่ผ่านมา เงินต่างชาติไหลเข้าไทยไม่มาก แต่จะกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ได้ในปลายปีนี้ จากปัจจุบันเคลื่อนไหวในกรอบ 34.50-35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้าน นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้รุกธุรกิจบริหารจัดการเงินส่วนบุคคล (Wealth Management) มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเป็นผู้ให้คำปรึกษา และนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อลงทุน ทำให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน โดยพบว่าลูกค้าเงินฝากรายใหญ่เริ่มมองหาทางการเงินใหม่ๆ ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจ ขณะเดียวกัน ลูกค้ายังเปิดกว้างที่จะทำความเข้าใจกับผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนมากขึ้นอีกด้วย ทำให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการในการลงทุนของลูกค้าในปัจจุบัน โดยพบว่าลูกค้าเริ่มให้ความสำคัญกับการวางแผนทางการเงินมากขึ้น เริ่มมีความรู้ความเข้าใจเรื่องของการวางแผนการลงทุน ประกอบกับในภาวะดอกเบี้ยเงินฝากในระดับต่ำ ทำให้ลูกค้าเริ่มมองหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นทั้งใน และต่างประเทศ มีความผันผวน ดังนั้น การลงทุนจึงต้องเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่สามารถสร้างรายได้สม่ำเสมอ และกระจายความเสี่ยง เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของการลงทุน เช่น หุ้นกู้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทรัสต์ เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund)

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยในส่วนของการจำหน่ายหุ้นกู้นั้น ธนาคารจำหน่ายหุ้นกู้ให้ลูกค้ารายย่อย โดยหุ้นกู้ที่ธนาคารคัดเลือก และนำเสนอให้ลูกค้านั้น จะต้องเป็นหุ้นกู้ที่มี Credit Rating ที่ดี และมีแนวโน้มธุรกิจที่สดใส ขณะเดียวกัน ก็ให้ดอกเบี้ยที่ดีด้วย โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนกรกฎาคม ได้จำหน่ายหุ้นกู้ไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การที่ธนาคารเป็นผู้นำในตลาดหุ้นกู้ ทำให้ธุรกิจการให้บริการหุ้นกู้ตลาดรองได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน เพราะธนาคารเป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนหุ้นกู้ ทำให้นักลงทุนสามารถทำกำไรจาก Capital Gain และเพิ่มสภาพคล่อง (liquidity) ให้กับนักลงทุนโดยไม่จำเป็นต้องถือหุ้นกู้จนครบกำหนดอายุ

นอกจากนี้ ในส่วนของกองทุนรวม ธนาคารได้ร่วมกับ บลจ.ซีไอเอ็มบี พรินซิเพิล เสนอขาย กองทุนรวมซีไอเอ็มบี พรินซิเพิล สตราทีจิค อินคัม ฟันด์ (CIMB Principal SIF) ซึ่งเป็นกองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ทั้งใน และต่างประเทศ ประมาณ 60% และกองทุนอสังหาริมทรัพย์, กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ทั้งใน และต่างประเทศ อีกประมาณ 40% โดยประมาณการผลตอบแทนอยู่ที่ 3.5-4% ต่อปี ซึ่งกองทุนนี้ได้รับการตอบรับดีมากจากนักลงทุน เนื่องจากความผันผวนต่ำ และมีความคล่องตัว สามารถขายคืนได้ทุกเดือน โดยกองนี้เพิ่งเปิดขายได้ประมาณ 3 เดือน แต่มีขนาดกองทุนประมาณ 6,000 ล้านบาทแล้ว นอกจากนี้ กองทุนรวมซีไอเอ็มบี พรินซิเพิล โกลบอล อินฟราสตรัคเจอร์ อิควิตี้ (CIMB Principal GIF) ซึ่งลงทุนในหุ้นที่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก เช่น สนามบิน ทางด่วน ท่อส่งก๊าซ ฯลฯ ซึ่งหุ้นกลุ่มนี้จะมีความผันผวนต่ำ เนื่องจากมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ และเป็นธุรกิจผูกขาดในประเทศนั้นๆ ทำให้กองทุนนี้มีความผันผวนต่ำ และให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ กองทุนนี้เพิ่งตั้งกองทุนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยผลตอบแทนตั้งแต่ตั้งกองทุนจนถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 อยู่ที่ 8.68%

“ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย พยายามนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝาก ซึ่งถ้าดูโดยภาพรวมการออมผ่านเงินฝากตอนนี้ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.25-1.25% ต่อปีขณะที่การนำเสนอผลิตภัณฑ์ของธนาคารในระยะที่ผ่านมา เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้ลูกค้าได้ตั้งแต่ 1.6-12% ไล่ตั้งแต่เงินฝากพิเศษดอกเบี้ยสูง 1.6% หุ้นกู้ที่เสนอขายในตลาดรองที่ให้ผลตอบแทน 2.8-3.6% หุ้นกู้ที่เสนอขายในตลาดแรกที่ให้ผลตอบแทน 3-4.5% หุ้นกู้อนุพันธ์ที่ให้ผลตอบแทน 3-6%” นายอดิศร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น