ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย หั่นจีดีพีปีนี้ลงเหลือโตเพียง 2.7% เหตุส่งออกหดตัวแรงถึง -4% แนะรัฐกระตุ้นกำลังซื้อคนระดับกลางและบน ก่อนจะซึมลงตามฐานราก และมีความเสี่ยงเติบโตช้าเป็นรูปตัว L ที่อาจซึมตัวไปถึงปีหน้า ส่วนประเด็นที่น่ากังวล คือ การลงทุนที่นักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่น ไม่มั่นใจในศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย หลังเติบโตต่ำมาหลายปี
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเติบโตช้าเป็นรูปตัว L (แอล) ที่อาจซึมตัวไปถึงปีหน้า ส่งผลให้มีการปรับจีดีพีลงเหลือโตร้อยละ 2.7 จากเดิมคาดว่า โตร้อยละ 3.3 ส่วนปี 2560 คาดว่า ขยายตัวร้อยละ 2.8 สาเหตุที่ปรับจีดีพีลงมาก เนื่องจากการส่งออกหดตัวรุนแรงถึงร้อยละ 4 จากเดิมคาดว่าไม่ขยายตัว และปี 2560 ยังมองว่า ส่งออกยังหดตัวต่อที่ร้อยละ 1.9 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังปรับตัวลดลง โดยเฉพาะราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ประกอบกับไทยขาดการลงทุนในการผลิตสินค้าใหม่มานาน ขณะที่การค้าโลกต้องการสินค้าที่มีเทคโนโลยี ซึ่งหากไทยไม่ปรับตัวทำให้สินค้าไทยไม่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ส่วนการนำเข้าหดตัวรุนแรงกว่า ร้อยละ 8.2 เนื่องจากไม่มีการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต เพราะการผลิตเพื่อการส่งออกหดตัว
ส่วนมาตรการกระตุ้นการบริโภคในช่วงสงกรานต์ เห็นว่า แม้จะเป็นมาตรการระยะสั้น แต่ก็ดีกว่าไม่มีมาตรการกระตุ้นเลย แนะนำให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค โดยเน้นไปที่คนชั้นกลางถึงบน เพราะความเชื่อมั่น และการใช้จ่ายเริ่มลดลง เพราะถ้าไม่กระตุ้นการบริโภคของคนชั้นกลางจะยิ่งซึม เหมือนกับคนระดับฐานรากที่กำลังซื้อลดลงมาก และกำลังถูกกระทบเพิ่มเติมจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงสุดในรอบ 10 ปี โดยการบริโภคภาคเอกชนโตเพียงร้อยละ 1.4 จากเดิมคาดโตร้อยละ 2.5
นายอมรเทพ กล่าวว่า ประเด็นที่น่ากังวล คือ การลงทุนที่นักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่น ไม่มั่นใจในศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย หลังเติบโตต่ำมาหลายปี การส่งออกติดลบต่อเนื่อง
การเมืองไม่ชัดเจน ขณะที่การกระตุ้นการลงทุนภาครัฐโตเพียงร้อยละ 1.9 จากเดิมโตร้อยละ 3.9 เนื่องจากพบว่า โครงการขนาดใหญ่มีความล่าช้า ขณะที่โครงการใหม่ในปีนี้คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบไม่เกิน 30,000 ล้านบาท ขณะที่เศรษฐกิจพิเศษไม่ได้รับความสนใจจากภาคเอกชน แม้จะได้สิทธิพิเศษทางภาษี แต่มีผู้สนใจเพียง 11 โครงการ เม็ดเงินลงทุน 12,600 ล้านบาท เพราะราคาที่ดินสูง และไทยถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP และค่าแรงไทยสูงกว่าเพื่อนบ้าน ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งความเชื่อมั่น และสร้างความชัดเจนเสถียรภาพทางการเมืองในอนาคต หลังมีการลงประชามติ และการเลือกตั้งเพื่อเร่งการลงทุนของภาคเอกชน
อย่างไรก็ดี เตือนนักลงทุนให้ระวังความผันผวนของค่าเงินบาท โดยเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในไตรมาส 2 การเคลื่อนไหวที่ 36.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมมองว่าอ่อนค่าถึง 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าในไตรมาสแรกจะแข็งค่าร้อยละ 2.2 เทียบกับดอลลาร์สหรัฐจากสงครามค่าเงินที่ยังมีอยู่ หลายประเทศยังใช้นโยบายอัดฉีดสภาพคล่อง และการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินส่งผลให้มีแรงกดดันให้ลดดอกเบี้ย