xs
xsm
sm
md
lg

CIMBT ห่วงกระแสกดดันลด ดบ. ทำ ศก.ดื้อยา แนะแก้เชิงโครงสร้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ซีไอเอ็มบีไทย ชี้แนวโน้มดอกเบี้ยไม่นิ่ง กนง.เจอแรงกดดันลดดอกเบี้ยอีกระลอก หลังเศรษฐกิจเดือน ม.ค.แผ่ว ติงควรแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่าโยนภาระให้นโยบายการเงินเป็นหลัก หวั่นเศรษฐกิจไทยดื้อยา แนะผู้ประกอบฝั่งเงินกู้ใช้เรต “ลอยตัว” ขณะที่ฝั่งผู้ออมดูระยะเกิน 1 ปีขึ้นไป

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องทลายพันธนาการการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยกลับมาแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มากกว่าจะสร้างแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งก็คือ การปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะถึงจุดหนึ่งเศรษฐกิจไทยอาจดื้อยา และไม่ตอบสนองต่อการลดดอกเบี้ยอีกต่อไป

ทั้งนี้ ธปท.ได้เปิดเผยรายงานเศรษฐกิจ และการเงินฉบับล่าสุด พบว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนมกราคม มีทิศทางแผ่วลง สะท้อนการเติบโตช้าของอุปสงค์ในประเทศ หลังมาตรการระยะสั้นสิ้นสุดลง เช่น การเร่งซื้อรถยนต์ก่อนปรับภาษี และการเร่งการใช้จ่ายครัวเรือนช่วงปลายปี ขณะที่การเบิกจ่ายภาครัฐก็ชะลอลง นอกจากนี้ อุปสงค์ต่างประเทศก็ยังอ่อนแอจากการส่งออกที่หดตัวแรง มีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงต่อการเติบโตช้า ท่ามกลางสงครามค่าเงินในภูมิภาคเพื่อช่วงชิงความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก ได้เริ่มก่อเป็นแรงกดดันใหม่ต่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่อาจตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุมวันที่ 23 มีนาคมนี้

“เมื่อเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างแล้วการแก้ไขต้องแก้ที่ต้นเหตุ การลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกจุด มาตรการเหล่านั้นทำได้แค่พยุงไม่ให้เศรษฐกิจทรุดหนัก หากทำซ้ำต่อเนื่อง ดอกเบี้ยที่ใครๆ คิดว่าเป็นยาวิเศษอาจมีผลให้คนไข้ หรือเศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาดื้อยาได้ กล่าวคือ เมื่อลดดอกเบี้ยลงก็อาจไม่ส่งผลให้ค่าเงินอ่อนค่า ไม่ได้ส่งผลให้สินเชื่อเติบโต และสุดท้ายก็ไม่ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นได้”

นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายประเทศก็เริ่มเห็นได้ว่าไม่ได้ช่วยให้ค่าเงินอ่อนลง หรือสินเชื่อเพิ่มขึ้นเหมือนเช่นในอดีต หรือบริบทใหม่ของนโยบายการเงิน คือ ภาวะกับดักสภาพคล่อง (Liquidity trap) และกับดักค่าเงิน (Exchange Rate Trap) ที่มนต์ขลังของธนาคารกลางทั่วโลกกำลังหมดลง

แนะธุรกิจกู้เรต “ลอยตัว” ฝากยาว

นายอมรเทพ กล่าวว่า เมื่อแรงกดดันต่อการลดดอกเบี้ยมีมากขึ้น ขณะที่ช่องว่างในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) เริ่มจำกัดลงจากดอกเบี้ยที่ต่ำ ลูกค้าควรรับมือในการเปลี่ยนเงินกู้เป็นรูปแบบ “ลอยตัว” (Floating Rate) มากกว่า “คงที่” (Fixed Rate) ส่วนผู้ออมเงินอาจพิจารณาฝากเงินระยะยาวมากกว่า 1 ปีขึ้นไป เนื่องจากความเสี่ยงดอกเบี้ยขาลงมีมากกว่าขาขึ้นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ทางสำนักวิจัยยังคงมุมมองว่า ดอกเบี้ยนโยบายจะคงที่ที่ระดับ 1.50% ต่อปีตลอดทั้งปีนี้ การดำเนินนโยบายการเงินอาจเปลี่ยนรูปแบบจากการลดดอกเบี้ยมาเป็นการผ่อนคลายมาตรการทุนเคลื่อนย้าย และสนับสนุนให้บาทอ่อนค่าเพิ่มเติม และยังคงประมาณการค่าเงินบาทที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไว้ท่ามกลางความผันผวนที่เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ ดังนั้น นักลงทุนควรป้องกันความเสี่ยงค่าเงินไว้บ้างในปีนี้ และแนะให้จับตาท่าทีการดำเนินนโยบายของจีนที่อาจกระทบต่อการอ่อนค่าของเงินบาทได้
กำลังโหลดความคิดเห็น