ซีไอเอ็มบีไทย ตั้งเป้ารายได้กลุ่มธุรกิจรายใหญ่โต 30% ใช้จุดแข็งด้านเครือข่ายนำลูกค้าขยายธุรกิจ เน้นกลุ่ม CLMV ด้านสินเชื่อตั้งเป้าปล่อยใหม่ 5-8 หมื่นล้าน ยันพร้อมเข้าร่วมไม่ว่าจะเป็นดีล “ทรู-ทีซีซี”
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (CIMBT) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานของสายงานธุรกิจขนาดใหญ่ในปีนี้ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 30% จากปีที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 3,500 ล้านบาท โดยจะเน้นในส่วนของงานวาณิชธนกิจที่จะนำพาลูกค้าขยายการลงทุนไปสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV และได้ตั้งเป้าหมายรายได้จากธุรกรรมข้ามประเทศไว้ที่ 50% จากปีก่อนที่ 40%
ทั้งนี้ ธนาคารประเมินแนวโน้มธุรกิจรายใหญ่ปีนี้จะเติบโตได้ดีจากโครงการลงทุนของภาครัฐ และเอกชน หากมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจมากขึ้น โดยธุรกิจที่ธนาคารมองว่าจะเติบโตได้ดีเป็นกลุ่มสุขภาพ ลอจิสติกส์ อุตสาหกรรมพื้นฐาน อาหาร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่อโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ขณะที่ความเสี่ยงต้องติดตามเป็นส่วนของปัจจัยในต่างประเทศ
เผยงานในมือ 2 ปีกว่า 60 ดีล
นายวิรัช มรกตกาล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายวาณิชธนกิจ CIMBT กล่าวว่า งานวาณิชธนกิจที่อยู่ในมือของธนาคารในปี 2559-2560 เบื้องต้น มีรายการเสนอขายหุ้นครั้งแรก (IPO) และรายการที่เกี่ยวข้องต่อการระดมทุนผ่านตลาดทุนรวมจำนวนกว่า 20 รายการ มูลค่า 30,000 ล้านบาท (ในจำนวนนี้มีรายการ REIT ประมาณ 5 รายการ รวม 5,000 ล้านบาท) คาดว่าจะเสร็จในปีนี้ประมาณ 8 รายการ เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับไฟฟ้า 2 รายการ ลอจิสติกส์ 1 รายการ รายการการควบรวมกิจการ (M&A) จำนวน 10 รายการ มูลค่า 30,000 ล้านบาท คาดว่าจะเสร็จในปีนี้ 5-6 รายการ และรายการที่เกี่ยวข้องต่อการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ (Debt Capital Market) จำนวนมากกว่า 40 รายการ มูลค่า 50,000 ล้านบาท คาดว่าจะเสร็จในปีนี้ประมาณ 20 รายการ
“สรุปโดยคร่าวๆ แล้วใน 2 ปี รวมแล้วมีรายการทั้งสิ้นมากกว่า 60 ดีล มูลค่ากว่า 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ยังไม่นับรวมรายการที่เกี่ยวข้องต่อสินเชื่อ สินเชื่อโครงการ และการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งในส่วนนี้เราได้เตรียมทีมงานวาณิชธนกิจที่เชี่ยวชาญ 20 คน ในการดูแลลูกค้าไปพร้อมๆ กับผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมในทุกๆ ด้านอยู่แล้ว”
นายพรชัย ปัทมินทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ CIMBT กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อใหม่กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่ 50,000-80,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 35,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปการปล่อยสินเชื่อไม่ใช่เป้าหมายหลักในการทำธุรกิจ แต่ให้ความสำคัญด้านรายได้มากกว่า ซึ่งสอดคล้องต่อจุดแข็งของธนาคารที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงทั่วอาเซียน
สำหรับการปล่อยกู้ให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เพื่อจ่ายค่าประมูล 4G คลื่น 900 MHz นั้น ได้มีการหารือกันทั้งในทางตรง และทางอ้อม ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี กรุ๊ป) เป็นลูกค้าของธนาคารอยู่แล้ว และมั่นใจว่าเป็นกลุ่มที่มีความแข็งแกร่งทั้งด้านการตลาด และฐานะการเงิน
ส่วนกรณีของบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด (มหาชน) (JAS) นายพรชัย กล่าวว่า ไม่ได้มีการหารือ หรือพูดคุยกันในเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม หาก JAS มีการเสนอแผนขอกู้เงินมายังธนาคารก็พร้อมที่จะพิจารณาเช่นกัน
ดอดคุยแผนบิ๊กซี
ด้านการปล่อยกู้ให้แก่บริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TCC) เพื่อซื้อหุ้นบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (BIGC) นั้น ธนาคารมีความสนใจที่จะเข้าร่วมปล่อยกู้ให้ และไม่เฉพาะดีลดังกล่าว ในส่วนธุรกิจอื่นหากทางกลุ่มต้องการให้ธนาคารเข้าร่วมก็ยินดี แต่เฉพาะกรณี BIGC ก็ได้มีการหารือถึงแผนธุรกิจในเบื้องต้นบ้างแล้ว
“เรื่องความเพียงพอของเงินทุนในการปล่อยกู้นั้นเชื่อว่ามีพร้อมอยู่เพราะเราไม่ได้ทำธุรกิจอยู่คนเดียว ทางกลุ่มก็พร้อมที่เข้ามาสนับสนุนอยู่แล้ว แต่ดีลขนาดใหญ่ระดับนี้ก็ต้องมีหลายๆ ธนาคารที่สนใจเข้ามาสนับสนุนอยู่แล้ว”