ซีไอเอ็มบีไทยคาดสินเชื่อเอสเอ็มอีโตตามเป้าที่วางไว้ 7-8% มีวงเงินอนุมัติรอเบิกไม่ต่ำกว่า 5 พันล้าน เน้นลุยภาคใต้ระบุมีศักยภาพด้านเศรษฐกิจ พร้อมกดเอ็นพีแอลทั้งปีไม่เกิน 2%
นายจิรชยุติ์ อัมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) (CIMBT) กล่าวว่า ธนาคารมั่นใจว่าสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลาง และย่อม (เอสเอ็มอี) ในปีนี้จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 7-8% จากช่วง 7 เดือนแรกของปีที่เติบโตไปแล้ว 3-4% ซึ่งจะส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อเอสเอ็มอีอยู่ที่ 57,000-58,000 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2559 ตั้งเป้าขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีอีก 10% ส่งผลให้ยอดคงค้างแตะ 6 หมื่นล้านบาทในปีสิ้นปี 2559
“จากเป้าหมายที่ได้ปรับลงมาแล้ว เรามั่นใจปีนี้สินเชื่อเอสเอ็มอีจะได้ตามที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน เพราะยังมีส่วนของสินเชื่อที่อนุมัติแล้วรอเบิกใช้อยู่อีกประมาณ 5 พันล้านบาท ซึ่งจากสภาวะต่างๆ ที่น่าจะดีขึ้นบ้างก็น่าจะทำให้มีการเบิกใช้เงินทุนเพิ่มเติมได้อยู่แล้ว”
สำหรับกลยุทธ์ในช่วงที่เหลือของปีนี้จนถึงปีหน้า ธนาคารจะเน้นขยายสินเชื่อในภาคใต้ เนื่องจากถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในด้านเศรษฐกิจ และในด้านของลูกค้าเองด้วย ซึ่งธุรกิจที่สร้างรายได้หลัก ได้แก่ ยางพารา ปาล์ม สินค้าต่อเนื่องทางการเกษตร ท่องเที่ยว และโรงแรม โดยปัจจุบันสัดส่วนสินเชื่อของเอสเอ็มอีในภาคใต้ของธนาคารมีอยู่ประมาณ 30% ของยอดคงค้างสินเชื่อเอสเอ็มอีรวม
ส่วนพื้นที่ที่ธนาคารจะเน้นเป็นลำดับถัดไป ได้แก่ ภาคตะวันออก และภาคอีสาน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนที่ 18-20% ของยอดคงค้างสินเชื่อเอสเอ็มอีรวม หรือประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท
“เราจะโตในสิ่งที่เราเชี่ยวชาญ และในที่ๆ ลูกค้ารู้จัก โฟกัสไปสิ่งที่เรามีความได้เปรียบ หรือเป็นจุดเด่นของเรา จะไม่มีการหว่านไปทั่ว เพราะเรามั่นใจในจุดแข็งที่มีอยู่ โดยเฉพาะในด้านเครือข่ายที่ครอบคลุมในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นจุดที่จะนำพาลูกค้าขยายธุรกิจไปสู่ต่างประเทศ อย่างลูกค้าในภาคใต้ก็มีความสนใจที่จะขยายไปในตลาดใหม่ๆ อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น”
นายจิรชยุติ์ กล่าวอีกว่า ธนาคารจะเน้นการเติบโตของสินเชื่ออย่างมีคุณภาพควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียม ซึ่งจะมาจากธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ และการบริการบริหารเงินสด การค้าชายแดน และธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในปีนี้ได้ตั้งเป้าอัตราการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 10%
ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.6% โดยสิ้นปีนี้จะรักษาไม่ให้เกิน 2% ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารได้เข้าไปดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด และให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมในแต่ละรายไป ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยกู้เพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่อง ปรับค่างวดในการชำระหนี้ ซึ่งจะพิจารณาตามกระแสเงินสดของลูกค้าเป็นรายๆ ไป