xs
xsm
sm
md
lg

CIMBT เตือนรับสงครามค่าเงิน-เก็ง ธปท. ปรับนโยบายชู FX นำแทน ดบ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ซีไอเอ็มบีไทย เตือนสงครามค่าเงินระอุหลังจีนเปิดศึก และแบงก์ชาติอาจหันปรับนโยบายการเงินมาใช้อัตราแลกเปลี่ยนนำกดบาทอ่อนต่อเนื่อง คาดบาทแตะ 37 และอาจหลุดไปถึง 38-40 ได้หากสู้ค่าเงินดุเดือด เตือนผู้นำเข้ารับความเสี่ยง พร้อมปรับลดเป้าหมายจีดีพีเหลือโต 2.5%

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับประมาณจีดีพีของไทยในปีนี้ลดลงเหลือเติบโตเพียง 2.5% จากเดิม 3.3% ขณะที่การส่งออกคาดว่าติดลบ 4% อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวในระดับ 1.50% ถึงปลายปี และเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องประเมินที่ระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปี จากเดิมที่ประเมินไว้ 36 บาท และคาดว่า เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปีหน้า โดยคาดว่าจะเติบโตได้ 3.3%

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ สงครามค่าเงินที่เริ่มต้นขึ้นหลังจากจีนลดค่าเงินหยวน ทำให้อีกหลายประเทศที่มีความเชื่อมโยงทางด้านการค้ากับจีนก็พร้อมที่จะปล่อยค่าเงินให้อ่อนเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านส่งออก อาทิ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ รวมถึงไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความเชื่อมโยงทางการค้ากับจีน จึงอาจจำเป็นเข้าสู่สถานการณ์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน

ดังนั้น จากสถานการณ์ที่ไทยต้องเผชิญทั้งศึกในประเทศอยู่อย่างนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทบทวนนโยบายการเงินจากเดิมที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่ได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ต่ำทำให้นโยบายการเงินที่ใช้ดอกเบี้ยเครื่องมือหลักไม่ค่อยส่งผลในการพยุงเศรษฐกิจมากนัก และหันมาใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวนำนโยบายการเงินแทน ซึ่งจะมีผลทำให้ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อไป

“ค่าเงินเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยากในสถานการณ์อย่างนี้ หากสงครามค่าเงินยืดเยื้อ รุนแรงขึ้น เงินหยวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ประเทศมีการค้าเชื่อมโยงกับจีนเข้ามาเล่นด้วย อย่างประเทศถัดไปที่พร้อม ก็น่าจะเป็นสิงคโปร์ ก็เป็นไปได้ว่าเงินบาทอาจจะหลุดจาก 37 บาทที่เราคาดไว้ ไปถึง 38 บาท หรือ 40 บาทอาจก็เป็นไปได้ ซึ่งตรงนี้ผู้นำเข้าสินค้าควรระมัดระวังความผันผวนด้วยการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเรายังคาดการณ์ว่าค่าเงินหยวนจะอ่อนลงในระยะสั้นอยู่”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะส่งผลดีต่อผู้ส่งออกไทยก็ตาม แต่เป็นในเรื่องของมูลค่า และเป็นผลในระยะสั้นเท่านั้น สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วยคือ การยกระดับผู้ประกอบการไทยให้สามารถปรับตัวได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ไม่ติดอยู่กับการแข่งขันด้านราคาแต่เพียงอย่างเดียว

นายอมรเทพ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหากับดัก 4 ประการ ซึ่งต้องการการปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูปแนวทางใหม่ๆ ที่จะทำให้เราก้าวผ่านกับดักเหล่านี้ไปได้ โดยกับดักทั้ง 4 ดังกล่าวมีชื่อย่อว่า ABCD ได้แก่

A = Advanced Economy Trap/Middle Income Trap: กับดักที่ไทยไม่สามารถเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ และยังคงวนเวียนอยู่ในประเทศรายได้ปานกลางต่อไป โดยเฉพาะเมื่อศักยภาพการเติบโตระยะสั้นนี้อาจมีได้เพียง 2-3% หากนิ่งเฉยไม่ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ไม่ลองปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ ไทยจะก้าวผ่านจุดนี้ไปไม่ได้

B = Banking Trap/Liquidity Trap: กับดักสภาพคล่อง สินเชื่อเพื่อการลงทุนและการบริโภคไม่ได้เติบโตนัก แม้ที่ผ่านมาจะมีการลดดอกเบี้ยก็ตาม รวมทั้งหนี้ครัวเรือนที่สูง รายได้ภาคเกษตรหดตัวแรง และมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำอีกนาน จึงขาดกำลังซื้อ ไม่ใช่มาจากต้นทุนทางการเงินที่สูง

C = Confidence Trap: กับดักความเชื่อมั่น สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาที่ผู้บริโภค และผู้ประกอบการยังขาดความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย ทำให้ไม่เกิดการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

และ D = Demography Trap: กับดักประชากร ไทยกำลังเผชิญปัญหาสังคมสูงอายุ ขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะมีผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำลงกว่าปัจจุบันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น