“กสิกรไทย-ซีไอเอ็มบีไทย” มองจีดีพีปีนี้ ขยายตัวได้ 3% ห่วงภาคส่งออกยังขยายตัวต่ำ ขณะที่การบริโภคในปีนี้ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย กำลังซื้อยังชะลอตัวต่อเนื่อง
นายเชาวน์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 3 จากปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยมีการลงทุนภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งหากภาครัฐลงทุนตามแผนที่วางไว้ เอกชนก็จะเริ่มลงทุนตาม ซึ่งคาดหวังว่าการลงทุนภาคเอกชนในปี 2559 จะกลับมาเป็นบวก หลังจากติดลบต่อเนื่องมา 3 ปี ซึ่งประเมินว่าเม็ดเงินลงทุนของภาครัฐจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายปี 2559 และเต็มที่ในปี 2560-2561
ส่วนภาคการส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย คาดว่าขยายตัวร้อยละ 2-3 จากที่หดตัวร้อยละ 5 ในปี 2558 โดยหวังการส่งออกในอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ที่เริ่มดีขึ้นตั้งแต่ปี 2558 จะขยายตัวต่อในปีนี้
ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงต่ำต่อเนื่องตามราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับตัวลงอีกประมาณร้อยละ 4-5 จากที่ปีก่อนราคาน้ำมันร่วงลงถึงร้อยละ 50 กดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีคู่แข่งสำคัญ คือ เวียดนาม ที่มีอัตราการเติบโตของการส่งออกสูงถึงร้อยละ 10 เนื่องจากเป็นการฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และสมาร์ทโฟน ซึ่งหากการส่งออกของไทยยังเติบโตไม่ถึงร้อยละ 5 อีกไม่เกิน 10 ปี มูลค่าการส่งออกของประเทศเวียดนามจะแซงหน้าประเทศไทย
ส่วนการบริโภคในปีนี้ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งจะทำให้รายได้เกษตกรไม่ดีหดตัวต่อเนื่อง บวกกับปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงถึงร้อยละ 80 ของจีดีพี กดดันการบริโภคของเกษตรกร และประชาชนในต่างจังหวัดให้ชะลอตัวต่อ
ด้านนายอมรเทพ จาวะลา อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะเติบโตได้ในร้อยละ 3.3 จากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 โดยหวังการลงทุนภาครัฐจะกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนลงทุนตาม เพราะการลงทุนเอกชนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20-25 ของจีดีพี ซึ่งจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ขณะที่การส่งออกในปีนี้ยังมีความเสี่ยงที่อาจจะติดลบ หรืออาจจะไม่ขยายตัวเลย เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั้งจีน ญี่ปุ่น และอาเซียน ยังอ่อนแอ มีเพียงเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ CLMV ที่เติบโตโดดเด่นประมาณร้อยละ 7 ดังนั้น ประเทศไทยต้องขยายการค้าชายแดนมากขึ้น
ส่วนการบริโภคมีโอกาสจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 2 ตามกำลังซื้อที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง หลังจากกำลังซื้อคนในชนบทมีปัญหา รายได้เกษตรตกต่ำ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังโตต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2-3 ปี เศรษฐกิจไทยจึงจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4 ได้ โดยต้องมาจากการการบริโภคภายในประเทศที่เข้มแข็งมากขึ้น