xs
xsm
sm
md
lg

CIMBT จับตา ศก.จีน ห่วงฉุดส่งออกเดี้ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ซีไอเอ็มบีไทย ชี้เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังเสี่ยง จับตาส่งออกไทยยังเสี่ยงหดตัวได้ในปีนี้ จากผลกระทบเศรษฐกิจจีนฟุบ แนะผู้ประกอบการเบนเข็มสู่ตลาด CLMV โดยเฉพาะเวียดนามยังเติบโตได้ดี ขณะที่ราคาน้ำมันที่ลดลงยังเป็นปัญหาต่อกลุ่มเกษตรกรที่รัฐบาลยังต้องดูแล

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)(CIMBT) กล่าวว่า ธนาคารยังคงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ระดับ 3.3% ปัจจัยในการขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการลงทุน และการท่องเที่ยว โดยในส่วนการลงทุนนั้นคงต้องรอส่วนของภาคเอกชนที่จะตามมาหลังเกิดความมั่นใจ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การก่อสร้างตามโครงการของรัฐ และอีกส่วนหนึ่ง คือ การลงทุนด้านเครื่องจักร และนวัตกรรมต่างๆ ที่จะนำมาซึ่งการพัฒนาศักยภาพในอนาคต ซึ่งส่วนนี้ควรได้รับการสนับสนุนมากขึ้น

ขณะที่ความเสี่ยงที่ยังต้องจับตาเป็นส่วนของการส่งออกที่ประมาณการเติบโตไว้ 0% แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะหดตัวหากได้รับผลกระทบที่มากขึ้นจากเศรษฐกิจจีน เนื่องจากไทยมีการส่งออกไปจีนในสัดส่วน 21% รวมถึงผลกระทบทางอ้อมที่การส่งออกสู่ประเทศต่างๆ ภูมิภาคนี้ที่จะลดลงด้วยจากสาเหตุเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ตลาดในกลุ่ม CLMV ที่ยังเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเวียดนามจะเป็นทางเลือกที่ดีให้แก่ผู้ประกอบการได้

นอกจากนี้ โจทย์ของเศรษฐกิจไทยอีกเรื่อง คือ ราคาน้ำมันที่ลดลงได้ส่งผลกระทบใน 2 ด้าน คือเป็นผลลบต่อกลุ่มฐานรากซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ จากราคาพืชผลทางการเกษตรที่ลดลงตามราคาน้ำมัน อีกด้านคือ ผลบวกต่อกลุ่มรายได้ปานกลาง และบนจากราคาน้ำมันที่ลดลง ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจึงมีเติบโตแบบไม่ทั่วถึง หรือเป็นการเติบโตทางเทคนิคที่เกิดจากราคาน้ำมันที่ลดลง

“ราคาน้ำมันที่ลดลงได้ฉีกเศรษฐกิจไทยออกเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจน คือ กลุ่มฐานรากที่รับผลลบ กับกลุ่มปลานกลาง-บน ที่รับผลดียังมีกำลังซื้อที่ดี ซึ่งจะยังช่วยประคองเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่งผ่านการจับจ่ายใช้สอย ขณะที่กลุ่มฐานรากก็คงต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐอยู่ ดังนั้น ถ้าถามว่ารัฐยังจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าปัญหาของคนกลุ่มใหญ่นี้รุนแรงมากขึ้นจนจะลุกลามไปถึงกลุ่มปานกลาง-บนหรือไม่ ถ้าใช่ก็คงต้องมี แต่พร้อมๆ กันนั้น ก็ควรมีการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมที่จะช่วยแก้ปัญหาของกลุ่มนี้อย่างยั่งยืนด้วย”

จับตาช่วง มี.ค.ค่าเงินป่วน

สำหรับเศรษฐกิจโลกในปีนี้จีนยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง ขณะที่สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มของการฟื้นตัวที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจต่อไปได้ แต่ก็ต้องจับตาตัวเลขบ่งชี้ทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องอยู่ รวมถึงทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งจะส่งผลต่อการไหลออกของเงินทุนในประเทศเกิดใหม่ และค่าเงินในภูมิภาคนี้

นายอมรเทพ กล่าวอีกว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้เป็นไปในระยะสั้นๆ เท่านั้น ซึ่งช่วงที่ต้องระมัดระวังอีกรอบประมาณเดือนมีนาคมนี้ที่มีการคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง ทำให้เงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่าลง โดยธนาคารประเมินค่าเงินบาทในปีนี้ที่ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น