xs
xsm
sm
md
lg

Gold Demand Trends H1/2016 จาก World Gold Council

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภาทองคำโลก (World Gold Council) เปิดเผยรายงานในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า การเติบโตอย่างต่อเนื่องของปริมาณความต้องการบริโภคทองคำในไตรมาสที่ 2 ปี 2016 (+ 15%) ทำให้ความต้องการบริโภคทองคำในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2016 (H1/2016) อยู่ที่ระดับ 2,335 ตัน ถือเป็นปริมาณความต้องการบริโภคทองคำในช่วงครึ่งปีแรกที่สูงสุดเป็นลำดับที่ 2 นับตั้งแต่มีการจดบันทึก โดยปริมาณความต้องการบริโภคทองคำนำโดยการไหลเข้าของเงินทุนสู่การลงทุนทองคำใน ETFs ทองคำ (+ 579 ตัน) อย่างไรก็ตาม ปริมาณความต้องการทองคำในช่วงครึ่งปีแรกกลับถูกกดดันจากความต้องการเครื่องประดับที่ปรับตัวลดลงท่ามกลางราคาทองคำที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยราคาทองคำพุ่งขึ้นในช่วง H1/2016 (+ 25%) และถือเป็นการพุ่งครึ่งในช่วงครึ่งปีแรกที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบกว่า 35 ปี

ขณะที่ปริมาณการผลิตทองคำในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าสู่ระดับ 1,144.6 ตัน ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกปริมาณการผลิตปรับตัวขึ้นแค่ 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และถือเป็นครึ่งปีแรกที่ปริมาณการผลิตเติบโตอย่างเชื่อช้าที่สุดในรอบกว่า 8 ปี

ความต้องการทองคำในด้านการลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้พุ่งขึ้นทำสถิติใหม่ที่ 1,063.9 ตัน เพิ่มขึ้น 16% จากสถิติสูงสุดก่อนหน้านี้ที่ทำไว้ในช่วงครึ่งปีของปี 2552 และถือเป็นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการจดบันทึกที่ความต้องการทองคำในด้านการลงทุนกลายเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของปริมาณความต้องการทองคำทั้งหมดถึง 2 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งความไม่แน่นอนทั้งทางเศรษฐกิจ และการเมืองที่ยังคงอยู่ในระดับสูงกระตุ้นความต้องการทองคำในภาคการลงทุน โดยเฉพาะในหมู่นักลงทุนชาวตะวันตก ขณะที่นักลงทุนชาวเอเชีย และตะวันออกกลางเลือกที่จะขายทำกำไรจากการปรับตัวขึ้นของราคา

โดยปัจจัยที่ส่งผลให้นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนชาวตะวันตกเข้าซื้อทองคำ ได้แก่ นโยบายการเงินทั่วโลกซึ่งยังคงเป็นปัจจัยหลัก ทั้งการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ หรือการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ (Negative Interest Rate Policy : NIRP) ในประเทศญี่ปุ่น และยุโรป และการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดยังคงชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกัน ในปี 2016 ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และการเมือง ทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ การทำประชามติขอแยกตัวจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจัก รและผลกระทบที่เป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดจาก Brexit ปัญหาภาคธนาคารในอิตาลี และปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง เหล่านี้คือส่งผลให้นักลงทุนเกิดความวิตกกังวล และกระตุ้นความต้องการบริโภคทองคำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกต คือ ปริมาณการใช้ทองในจีน และอินเดียมีแนวโน้มดิ่งลง 15-20% ในปีนี้ โดยเป็นผลจากการที่นักลงทุนลดความต้องการซื้อทองเนื่องจากราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้น และเป็นผลจากยอดขายเครื่องประดับที่ลดลง ซึ่งจีน และอินเดียถือเป็นสองประเทศผู้ซื้อทองรายใหญ่ที่สุดในโลก และ 2 ประเทศนี้ครองสัดส่วนสูงกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดทองโลก  ดังนั้น ถ้าหากอุปสงค์ทองจาก 2 ประเทศนี้ลดลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2016 ปัจจัยดังกล่าวก็อาจจะสกัดกั้นการพุ่งขึ้นของราคาทองในตลาดโลกในขณะที่ราคาทองเคลื่อนตัวอยู่ใกล้จุดสูงสุดในรอบ 2 ปีในช่วงนี้ได้เช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น