xs
xsm
sm
md
lg

เงินนอกไหลเข้าตลาดหุ้นไทย ดันดัชนีเชื่อมั่น นลท.ร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวขึ้นทุกกลุ่ม ส่งผลให้ดัชนีเข้าสู่กรอบร้อนแรงเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน ชี้มาจากปัจจัยเม็ดเงินไหลเข้าอย่างต่อเนื่องจากต่างชาติ ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองยังคงน่าจับตามองอย่างใกล้ชิด

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนสิงหาคม 2559 ว่า มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 23.31% ซึ่งส่งผลให้ดัชนียังคงอยู่ในกรอบร้อนแรง (Bullish) โดยมีปัจจัยจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติเป็นตัวดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน

สำหรับรายละเอียดของผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เดือนตุลาคม 2559) อยู่ที่ 128.81 อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” (Bullish) (ช่วงค่าดัชนีระหว่าง 0-200) ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 23.31% จากเดือนที่ผ่านมา ที่ 104.46

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 71.43% ซึ่งช่วยผลักดันให้ดัชนีต่างชาติแตะระดับร้อนแรงอย่างมาก โดยหมวดอุตสาหกรรมที่น่าสนใจมากที่สุด คือ ธนาคาร (BANK) ส่วนหมวดแฟชัน (FASHION) เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

ด้านปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การไหลเข้าออกของเงินทุน ในขณะที่ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด ยังคงเป็นเรื่องสถานการณ์การเมืองในประเทศ โดยในขณะที่ได้ทำการสำรวจ ซึ่งอยู่ในช่วงปลายเดือน ก.ค.2559 นักลงทุนก็ยังคงเห็นว่า การเมืองเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นไทยอย่างชัดเจน

ด้วยสถานการณ์ความผันผวนของตลาดการเงินทั่วโลกจะทำให้ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย และประเทศกำลังพัฒนาถูกขับเคลื่อนด้วย Fund flow มากขึ้น และด้วยอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่มีแนวโน้มลดต่ำลง จึงทำให้นักลงทุนมองหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรนั้น ได้ส่งผลให้เม็ดเงินยิ่งไหลออกจากตลาดตราสารหนี้มายังตลาดหุ้นเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้ราคาหุ้นสูงกว่ามูลค่าปัจจัยพื้นฐานอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหากเปรียบเทียบค่า P/E ของ SET Index ณ เดือน ก.ค.59 สูงถึง 23.33 เท่า หรือเพิ่มขึ้น 3.37% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และ 67.02 เท่าในตลาด mai ส่วนผลของประชามติหลัง 7 สิงหาคม ที่จะมีต่อเสถียรภาพการเมือง เศรษฐกิจ และการลงทุนอย่างไรนั้น นางวรวรรณ ระบุว่า ในระยะสั้นประชามติจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่จะดีขึ้นเป็นหลัก ส่วนในระยะยาว หลังจากมีการเลือกในปีกว่าๆ ข้างหน้านั้น นัยต่อเศรษฐกิจ และการเมืองจะขึ้นอยู่กับการที่ประชาชนรับคำถามพ่วง

ทั้งนี้ เนื่องจากจะเป็นตัวกำหนดลักษณะของรัฐบาลในระยะข้างหน้า ซึ่งเมื่อเสียงส่วนใหญ่ออกมารับทั้งร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงแล้วจะทำให้ คสช.มีอำนาจผ่าน ส.ว.ที่จะมีเสียงในการเลือกนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลเกิดเสถียรภาพทางการเมือง

“เพราะการเมืองมีความชัดเจน รู้แน่นอนว่าจะได้เลือกตั้งภายในปลายๆ ปีหน้า และ ส.ว.สามารถผลักดันการปฏิรูป และการลงทุนภาครัฐได้อย่างต่อเนื่อง แผนการปฏิรูป และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสามารถเดินหน้าไปได้ต่อเนื่อง เมื่อความไม่แน่นอนทางการเมืองคลี่คลาย ความมั่นใจต่อการลงทุนจะกลับมา ก็น่าจะมีผลให้การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวได้บ้าง” ประธานกรรมการ สภาตลาดทุนไทย ย้ำ

อย่างไรก็ตาม นางวรวรรณ ยังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา Flow ต่างชาติที่เข้ามาในตลาดทุนจะอิงตาม Regional flow และ Fundamental ของไทยที่ดีขึ้นมากกว่าจะเป็นการเข้ามาเพื่อเก็งกำไรเรื่องการเมือง แต่การรับร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงจะเป็นบวกต่อ SET และอาจเห็น Fund flow เข้าไทยมากขึ้น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มที่มีมูลค่าสูงในตลาด (Big cap.) เพราะทำให้กรอบระยะเวลาของการเลือกตั้งมีความชัดเจนว่าจะเกิดได้ภายในปลายปี 60 หรือไม่เกินกลางปี 2561 ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในสายตาต่างชาติ และน่าจะส่งผลดีต่อการลงทุนจากเม็ดเงินต่างชาติที่เป็นเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น