“ทรีนีตี้” คาดการณ์ผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคมนี้ ส่งผลเชิงจิตวิทยาเท่านั้น ไม่มีผลกระทบต่อฟันด์โฟลว์ แนะจับตาการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าจะเป็นตัวแปรกำหนดทิศทางเงินไหลเข้าออกในระยะสั้น
นายณัฐชาต เมฆาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวถึงปัจจัยด้านการลงทุนที่หลายคนให้น้ำหนัก คือ การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาในรูปแบบไหน ประเมินว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินทุนต่างชาติอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าเม็ดเงินต่างชาตินี้จะเคลื่อนไหวไปตามปัจจัยภายนอกมากกว่า ส่วนปัจจัยการเมืองคาดส่งผลกระทบเพียงเชิงจิตวิทยาต่อนักลงทุนในประเทศเท่านั้น
สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะสั้น ได้แก่ การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ในวันที่ 4 สิงหาคม ซึ่งหาก BoE มีมติขยายวงเงินเป้าหมายโครงการ QE จากเดิมที่ระดับ 3.75 แสนล้านปอนด์ มองจะเป็นปัจจัยบวกต่อสภาพคล่องทั่วโลกได้ อย่างไรก็ดี หลังจากผ่านพ้นการประชุม BoE รอบนี้ไป คาดว่าปัจจัยผลักดันทางด้านสภาพคล่องจะเริ่มลดลง เนื่องจากไม่น่าจะได้เห็นการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของธนาคารกลางหลักอื่นๆ อีก (Fed, ECB, BoJ) จนกระทั่งช่วงปลายเดือนกันยายน ซึ่งจะมีการประชุม BoJ ครั้งถัดไป
ในส่วนปัจจัยอื่นที่สำคัญ ได้แก่ การรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในวันที่ 5 สิงหาคม ต่อด้วยรายงานการประชุม FOMC รอบที่ผ่านมา ในวันที่ 17 สิงหาคม และการปรับตัวของราคาน้ำมันดิบ ซึ่งคาดว่าทั้ง 3 ปัจจัยนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ รวมถึงกระแสเงินทุนต่างชาติในท้ายที่สุด
ขณะที่ในส่วนของประเมินการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% นั้นถือเป็นผลบวกในแง่ของฟันด์โฟลว์ เนื่องจากจะทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับประเทศพัฒนาแล้วมีความน่าดึงดูด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่มีการลดดอกเบี้ยในช่วงหลัง และน่าจะทำให้แนวโน้มฟันด์โฟลว์ในตลาดทุนไทยแข็งแกร่งกว่าต่อไป
“ในระยะสั้นคาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวแกว่งตัวในกรอบดัชนี 1,470-1,550 จุด แนะนำกลยุทธ์ขึ้นขาย-ลงซื้อตามกรอบดังกล่าว โดยอาจเลือกโฟกัสไปยังพอร์ตหุ้นแนะนำประจำไตรมาสที่ 3 ซึ่งล่าสุด ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 14% เทียบกับ SET Index ที่ 7% นอกจากนั้น อาจเลือกลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ราคายังคงไม่ปรับตัวขึ้นมา เช่น กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ขนส่งฯ และชิ้นส่วนยานยนต์ ได้แก่ AP, ANAN, BA, SAT”
สำหรับภาพการลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังคงยืนยันมุมมองที่ว่า บรรยากาศการลงทุนโดยรวมในไตรมาสที่ 3 น่าจะดีกว่าไตรมาสที่ 4 เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายจะไปกองอยู่ในช่วงปลายปี ทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และความเป็นไปได้ที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่า และทำให้ Fund flow ไหลออกจากตลาดหุ้นเกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง