xs
xsm
sm
md
lg

BREXIT กับตลาดหุ้นไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โดย บลจ.ทิสโก้

ผ่านไปแล้วครึ่งปีสำหรับปี 2559 เป็นอีกปีที่ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน รวมถึงตลาดโภคภัณฑ์ ในช่วงไตรมาส 1 ความผันผวนเกิดจากวิกฤตราคาน้ำมันตกต่ำ ส่งผลต่อความไม่มั่นใจต่อความสามารถชำระหนี้ของบริษัทน้ำมัน รวมถึงประเทศที่พึ่งพารายได้ในการส่งออกน้ำมัน และเกิดแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงของบรรดากองทุนความมั่งคั่ง (Sovereign Wealth Fund) โดยเฉพาะกองทุนความมั่งคั่งของประเทศทางแถบตะวันออกกลาง ช่วงนั้นราคาทองขึ้น ดอลลาห์สหรัฐและเงินเยนแข็ง Yield พันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวลง อย่างไรก็ดี ระดับราคาน้ำมันเริ่มฟื้นตัว ความกังวลเริ่มคลี่คลาย นักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจ เม็ดเงินเริ่มไหลกลับเข้าสินทรัพย์เสี่ยง ราคาหุ้นทั่วโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ราคาทองลง ดอลลาห์สหรัฐและเงินเยนเริ่มกลับมาอ่อนค่า เป็น pattern ที่เกิดขึ้นทุกครั้ง ยามที่นักลงทุนมีความกล้า และยามที่นักลงทุนมีความกลัว แต่มาในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนจบกลางปีก็เกิดเหตุการณ์ช็อกโลกจากผลของการทำประชามติของอังกฤษ ซึ่งผลลัพธ์คืออังกฤษต้องการออกจาก EU จริงๆ แล้วข่าวเรื่องการทำประชามตินักลงทุนรับรู้มาล่วงหน้าหลายเดือน และผลของโพลก็มีความใกล้เคียงกันมากระหว่างออกกับไม่ออก แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าท้ายที่สุดแล้วอังกฤษจะมีบทสรุปในการออกจาก EU จริงๆ ส่งผลให้ตลาดเงินและตลาดทุนมีความผันผวนอย่างมากอีกครั้งในวันที่เริ่มจะทราบผลการลงมติ ตลาดหุ้นยุโรปบางประเทศลงมากกว่า 10% ยูเอสลง 3-4% ญี่ป่นลงประมาณ 8% เอเชียอื่นๆ ลงประมาณ 2-3% ไทยเราเองก็ลงแต่ไม่ถึง 2% ถือว่าค่อนข้างแข็งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

หลังเกิด BREXIT ก็จะมีคนตั้งคำถาม แล้วจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน จริงๆ แล้วหลังจากได้ผลของการทำประชามติ ยังคงมีกระบวนการอีกนานพอสมควร คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีก่อนที่จะมีผลจริงๆ ในช่วงนี้อังกฤษถือได้ว่ายังคงอยู่ใน EU อยู่ ผลกระทบต่อไทย คาดว่าจะอยู่ในกรอบค่อนข้างจำกัด สำหรับภาคการส่งออก จากการที่ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงอย่างมาก แน่นอนย่อมส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าไทยที่แพงขึ้นเมื่อนำเข้าไปในอังกฤษ ส่วนข้อตกลงทางการค้าระหว่างไทยกับอังกฤษก็คงต้องมีการคุยกันใหม่ แต่ด้วยความโชคดี เราไม่ได้พึ่งพาการส่งออกไปยังอังกฤษมากนัก โดยปัจจุบันเรามีการส่งออกไปยังอังกฤษแค่เพียงไม่ถึง 2% ของยอดส่งออกทั้งหมด ขณะที่ส่งออกไปยังยุโรปอื่นๆ มีประมาณ 8% ของยอดส่งออกโดยรวม ส่วนนี้คงไม่กระทบมากนัก สำหรับภาคการท่องเที่ยวก็คงจะมีผลกระทบ จากการที่คนอังกฤษมาเที่ยวไทยจะมีค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นจากผลของค่าเงินปอนด์ และกำลังในการใช้จ่ายของเขาอาจจะแย่ลง แต่ผลกระทบคงไม่มากนัก เนื่องจากในช่วงหลังเราพึ่งพานักท่องเทียวในเอเชีย โดยเฉพาะจีนเป็นหลัก ผลกระทบต่อภาคสถาบันการเงินไทยก็คงจะจำกัดเช่นเดียวกัน เนื่องจากเราคงไม่ได้มีธุรกรรมอะไรกับทางนั้นมากนัก

โดยสรุป ผลกระทบจาก BREXIT ที่มีต่อประเทศไทยนั้นไม่น่าจะมาก แต่ในเชิงผลกระทบต่อตลาดอาจจะมีบ้าง แต่อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทยก็ถือได้ว่ามีความแข็งแกร่งกว่าตลาดอื่นๆ ในวันที่ตลาดตื่นตระหนกเรื่อง BREXIT นั้นดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงไม่ถึง 2% น้อยกว่าประเทศอื่นๆ และสามารถดีดตัวขึ้นสูงกว่าเดิมอีกในวันถัดๆ มา สะท้อนถึงความมั่นใจของนักลงทุนต่อตลาดหุ้นไทย สภาพเศรษฐกิจและการเมืองของไทยก็พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ภาครัฐเร่งผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ บวกกับการทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวยังคงเติบโตได้ดี ดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ เอื้อต่อการลงทุนในตลาดหุ้นซึ่งยังให้เงินปันผลในอัตราที่ดี ตลาดหุ้นไทยจึงยังคงมีความน่าสนใจโดยเฉพาะกลุ่มหุ้นกลางและเล็กที่มีอัตราการเติบโตสูง แต่ค่อนข้าง laggard เมื่อเทียบกับหุ้นขนาดใหญ่ที่ perform ได้ดีในช่วงครึ่งปีแรก กลุ่มกองทุนที่เน้นการลงทุนในกลุ่มหุ้นกลางและขนาดเล็กจึงน่าจะเป็นดาวเด่นในช่วงครึ่งปีหลัง ถ้านักลงทุนท่านใดสนใจมองหากองทุนที่มีนโยบายแบบนี้สามารถติดต่อ บลจ.ทิสโก้ได้ที่เบอร์ 0-2633-6000 กด 4
กำลังโหลดความคิดเห็น