xs
xsm
sm
md
lg

เงินทุนไหลเข้า...เก็งกำไร?...ลงทุน?...

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ต้องยอมรับว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางสำคัญทั่วโลก เป็นปัจจัยสำคัญที่กำลังผลักดันให้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว “อย่างต่อเนื่อง” เนื่องจากสภาวะการเงินอยู่ในระดับที่ “ผ่อนคลาย” อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า ในอนาคตความผันผวนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายอาจเพิ่มสูงขึ้น แน่นอนว่าจะต้องส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย สภาวะดังกล่าวเป็นปัจจัยคาดการณ์ได้จึงต้องมีการเตรียมรับมือในอนาคต

วันที่ 27 ก.ค.59 นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ประกาศแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 28 ล้านล้านเยน (ราว 9.2 ล้านล้านบาท) พร้อมให้คำมั่นว่า จะแถลงรายละเอียดแผนการใช้เงินดังกล่าวในสัปดาห์นี้ ขณะเดียกัน การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) รอบที่ 5 ของปี 2559 วันที่ 26-27 ก.ค. 2559 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25-0.50% ตามเดิม ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสนับสนุนเงินทุนไหลเข้าตลาดทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ รวมถึงไทยในช่วงสั้น อย่างไรก็ตาม นักลงทุนก็ทราบแล้วว่า FED ยังมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 1 ครั้ง ในปี 2559 นี้ ดังนั้น นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะซื้อประกันความเสี่ยงสกุลเงินเป็นหลักประกันในช่วงเวลาแห่งความผันผวน และไม่แน่นอน

ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกถูกพยุงไว้ด้วยการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือมาตรการ QE : Quantitative Easing ของธนาคารกลางประเทศสำคัญทั่วโลกทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ที่ถือเป็น “เครื่องมือหลัก” ในการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีเม็ดเงินลงทุน “ส่วนเกิน” วิ่งเข้าสู่ “ตลาดทุน” หรือ “ตลาดที่มีความเสี่ยงสูง” เป็นระยะ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ “ตลาดเกิดใหม่” ซึ่งในเอเชียคงหนีไม่พ้นกลุ่ม TIP ก็คือ ไทย ฟิลลิปปินส์ และอินโดนีเซีย นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เดือนกรกฎาคม 59 จะเป็นเดือนที่มีเงินทุนต่างประเทศไหลทะลักเข้ามาในตลาดทุนกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในเอเชียมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยคาดว่าจะมียอดซื้อสุทธิสะสมสูงสุดของปี 2559 ซึ่งอาจมีมูลค่ารวมสูงถึงกว่า 9.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (สูงกว่าเดือน มี.ค.ที่เคยมียอดซื้อสะสมรวมสูงสุดอยู่ที่ 9.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ตลาดหุ้นเริ่มถูกขับเคลื่อนด้วย Fund Flow สภาพคล่องดอกเบี้ยทั่วโลกที่ลดต่ำลง และการคาดการณ์ของผลการดำเนินงานและกำไรที่ดีขึ้น ตลาดหุ้นหลายประเทศในโลกเริ่มทำ All time high และในไตรมาส 3 นี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า อาจขึ้นถึงจุดสูงสุดของสภาพคล่อง ก่อนจะกลับเข้าสู่สภาพวะ wait & see ผลการประชุม FED อีกครั้ง

ทีมเศรษฐกิจผู้จัดการรายวัน 360 รวบรวมรายงานการซื้อ-ขาย ของนักลงทุนต่างชาติในช่วงสำคัญๆ นำเสนอเพื่อเตือนสตินักลงทุน เม็ดเงินต่างชาติมีอิทธิพลต่อความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

ณ สิ้นเดือนมกราคม 2556 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปิดที่ 1,477.20 จุด มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 57,999 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิใน SET 252,283.91 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตลาด mai 1,069.41 ล้านบาท หากย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2556 ไม่มีสัญญาณล่วงหน้าว่าไทยจะเกิดวิกฤตการทางการเมือง “ครั้งใหญ่” นักวิเคราะห์ทุกค่ายทุกสำนักคาดการณ์ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะกลับขึ้นไปแตะ 1,65-1,700 จุดได้อีกครั้ง โครงการเมกะโปรเจกต์ดูจะเป็นที่คาดหวังว่าจะสามารถสร้างมูลค่ามหาศาลให้แก่ทั้งระบบเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย

อย่างไรก็ตาม ไทยเริ่มเข้าสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองประมาณช่วงเดือนสิงหาคม 2556 โดยตัวเลขการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2556-31ส.ค.2556 ปรากฏว่า นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยทั้งสิ้น 116,025 ล้านบาท สถิติสำคัญเดือนสิงหาคม 2556 อยู่ระหว่างวันที่ 19-20 ส.ค.56 ตลาดหุ้นไทยถูกแรงขายถล่มทำให้ดัชนีดิ่งเหวถึง 90 กว่าจุด ในช่วง 2 วัน ทำให้ดัชนีหลุดระดับ 1,400 จุด ทันที (วันที่ 20 ส.ค.56 ดัชนีปิดที่ 1,370 จุด ถือเป็นการปรับตัวลงต่ำสุดในรอบ 8 เดือน) สอดคล้องต่อการรายงานของตลาดตราสารหนี้ที่สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ในช่วง 2 วันดังกล่าว นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 5.6 พันล้านบาท ขณะที่ในรอบเกือบ 8 เดือน ต่างชาติยังมียอดซื้อสะสม 3.4 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อรวมแรงขายในหุ้นและตราสารหนี้ไทยของต่างชาติในช่วง 2 วันที่ผ่านมา มียอดรวมขายสุทธิ 1.96 หมื่นล้านบาท

ไทยก้าวเข้าสู่ “รัฐประหาร” เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ภาวะเศรษฐกิจในประเทศก็เริ่มทรงตัว ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7 จากปี 2556 เพราะมีข้อจำกัดด้านการเติบโตจากทั้งปัจจัยภายใน และภายนอกประเทศ
โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 เศรษฐกิจไทยไม่ขยายตัวเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานบางส่วนของภาครัฐ ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณประจำปีบางส่วนได้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจรวมทั้งนักท่องเที่ยว ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่าย และสถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ

ในปี 2558 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นโดยมีภาคการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ภาคเอกชนเริ่มทยอยลงทุนเพราะได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ลดลง ประกอบกับการใช้จ่ายของภาครัฐเริ่มกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้นแต่เศรษฐกิจไทยโดยรวมทั้งปี 2558 ก็ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.8

  สถานการณ์ดังกล่าวทำให้หุ้นขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) สูง หรือหุ้นใหญ่ไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปได้มากนัก ขณะที่หุ้นที่มี Market Cap เล็ก หรือที่เรียกว่าหุ้นเล็ก (ส่วนใหญ่อยู่นอก SET50) ได้รับความสนในเป็นอย่างมาก

มาประมวลภาพปี 2559 ด้วยกัน ทีมเศรษฐกิจผู้จัดการ 360 ไม่อยากให้นักลงทุนลืมว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงทรงตัว ทันทีที่สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นประกาศ “ข่าวดี” ให้นักลงทุนทั่วโลกผ่อนคลายความกังวล “เชาว์ เก่งชน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ก็ออกแถลงงานวิจัยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยทันที โดยคาดการณ์ การขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ GDP ไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตในระดับที่ใกล้เคียง 3% เนื่องจากประเมินว่าปัจจัยด้านการส่งออกจะเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไทย ผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งเศรษฐกิจจีน และยุโรปที่ประสบปัญหา ดังนั้น ครึ่งหลังของปี 2559 เศรษฐกิจไทยหวังพึ่งได้แต่การลงทุนภาครัฐบาลเท่านั้น

มาเปิดแผนการลงทุนของรัฐบาลกัน โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลมีทั้งสิ้น 20 โครงการ มูลค่าโครงการ 1.410 ล้านล้านบาท แต่กว่าเม็ดเงินจริงๆ จะถูกส่งเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจก็ต้องเป็นประมาณกลางปี 2560 ต่อเนื่องไปอีก 3 ปีข้างหน้า เพราะโครงการที่สามารถลงนามภายในปีนี้มีเพียง 1 -2 โครงการ คาดว่าภายในปีนี้จะมีการเม็ดเงินลงทุนราว 6.6 หมื่นล้านบาท

จากการรวบรวมของทีมเศรษฐกิจผู้จัดการ 360 คาดว่าภายในปีนี้จะมีการลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ 18-19 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 1.4 ล้านล้านบาท

เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี วงเงิน 53,490 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง วงเงิน 51,810 ล้านบาท ทั้ง 2 โครงการมีกำหนดขายซอง 6 ก.ค.-5 ส.ค.เปิดซองข้อเสนอ วันที่ 17 พ.ย. 2559 โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ระยะทาง 21 กิโลเมตร แบ่งเป็น 6 สัญญา รวมค่างานโยธา 79,724 ล้านบาทกำหนดขายซองประกวดราคาในวันที่ 15-29 ก.ค. 2559 กำหนดรับซอง 31 ต.ค. 2559 หลังจากนี้จะใช้เวลา 2-3 เดือน จะทราบผล

ส่วนโครงการที่อาจไม่สามารถลงนามในสัญญาได้ภายในปีนี้ คือ โครงการรถไฟทางคู่ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เป็นต้น แต่เมื่อมีการลงนามในสัญญาดังกล่าวแล้ว น่าจะถือเป็นการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน และมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจประเทศขยายตัวได้ระดับหนึ่ง

แม้ว่าญี่ปุ่นจะประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมดังกล่าวข้างต้น แต่ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรให้น้ำหนักด้วยเช่นกัน สะท้อนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ปรับลดประมาณการ GDP Growth โลกทั้งปี 2559 ลงเหลือ 3.1% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3.2% ถือเป็นครั้งที่ 3 ของปี จากปัญหาของ Brexit

อีกประการหนึ่งนักลงทุนต้องยอมรับว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจประเทศเองก็ยังไม่ค่อยแข็งแรง จึงทำให้ตลาดหุ้นไทยที่ถูกขับเคลื่อนด้วยกระแส Fund Flow ที่ไหลบ่าเข้ามา ยังคงมีความเสี่ยงที่จะถูกขายทำกำไรออกมาทุกเมื่อ*** ข้อมูลที่ใกล้ตัว และไม่มีนักวิเคราะห์ค่ายใดพูดถึงอย่าง “เปิดเผย” แต่? วงใน? ทุกสำนักก็เฝ้าติดตาม “อย่างใกล้ชิด” ชนิดไม่กะพริบตา คือ เสถียรภาพทางการเมืองของไทย ภายใต้รัฐบาลทหาร ที่นับวันจะทวีความร้อนแรงผิดสังเกต การเมืองที่มีท่าทีร้อนระอุมากขึ้น เมื่อใกล้วันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นที่อาจเป็นแรงกระตุ้นให้ต่างชาติ “ขายทิ้ง” หุ้นไทยหลังทำกำไรได้ดั่งใจแล้วอีกครั้งหรือไม่ ตราบใดการเมืองในประเทศ คือ? ปัญหาส่วนตัว? ไม่เกี่ยวกับชาวโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น