ดัชนีวัดความก้าวหน้าทางสังคม (Social Progress Index หรือ SPI) ประจำปี 2016 ที่เผยแพร่โดยองค์กร Social Progress ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ประเทศไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 67.43 จากเดิมที่ทำคะแนน ได้ 66.34 ในปี 2015 จากการจัดอันดับดัชนีความก้าวหน้าทางสังคม พบว่าถึงแม้ความก้าวหน้าทางสังคม ซึ่งรวมถึงการวัดโอกาสในสังคม การสาธารณสุข การศึกษา และการเคารพในความต่างและการอยู่ร่วมกันนั้นมีแนวโน้มที่จะมีความเชื่อมโยงกับการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) แต่ลำพังความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นไม่สามารถอธิบายผลความก้าวหน้าทางสังคมได้
โดยในปี 2016 นี้ ประเทศไทยถูกจัดอยู่อันดับที่ 61 จากจำนวน 133 ประเทศ ทำให้ประเทศไทยนำหน้าประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เช่น รัสเซีย (อันดับที่ 75) จีน (อันดับที่ 84) และอินเดีย (อันดับที่ 98) จากผลรวมการจัดอันดับทั้งหมด และเมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศไทยยังนำหน้าฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 68) อินโดนีเซีย (อันดับที่ 82) กัมพูชา (อันดับที่ 97) และลาว (อันดับที่ 102) แต่ยังตามหลังมาเลเซีย ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 50
นายสุภศักดิ์ กฤษณามระ กรรมการผู้จัดการดีลอยท์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความก้าวหน้าทางสังคมเป็นพื้นฐานของความสามารถในการแข่งขัน และความมั่นคงของประเทศ ซึ่งดัชนี Social Progress Index เป็นเครื่องมือในการวัดสิ่งเหล่านี้ และจะมีบทบาทในการช่วยชี้ให้ธุรกิจต่างๆ เห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนความก้าวหน้าทางสังคม สำหรับประเทศไทย SPI ระบุว่า ดัชนีที่สามารถมีการพัฒนาให้ดีขึ้นได้อีก ได้แก่ เรื่องความปลอดภัยในชีวิต และการเคารพความต่าง และการอยู่ร่วมกัน
“เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงผลอันสืบเนื่องมาจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ UN Millennium Development Goals (MDGs) อันเป็นข้อตกลงร่วมกันของประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของ UN” นายสุภศักดิ์ กล่าวเสริม
ในปี 2016 ประเทศที่ได้อันดับที่ 1 ได้แก่ ฟินแลนด์ ตามมาด้วยแคนาดา (อันดับ 2) เดนมาร์ก (อันดับ 3) ออสเตรเลีย (อันดับ 4) และสวิตเซอร์แลนด์ (อันดับ 5)
เกี่ยวกับ Social Progress Imperative
ภารกิจของ Social Progress Imperative คือ เพื่อทำการยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชากรทั่วโลกให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยการพัฒนาความก้าวหน้าทางสังคมของโลกด้วยการใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในการวัดผล นั่นก็คือ ดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าทางสังคม Social Progress Index (SPI) ซึ่งเป็นการสนับสนุนงานวิจัยและการแบ่งปันความรู้ในเรื่องของความก้าวหน้าทางสังคมให้แก่ผู้นำ และผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจภาครัฐ และภาคประชาสังคมเพื่อให้มีเครื่องมือใหม่ๆ ใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการจัดทำโครงการต่างๆ ข้อมูล SPI ได้มีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางโดยรัฐบาล รวมไปถึงองค์กรธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก เพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้าทางสังคมในระดับประเทศ ระดับเมือง และระดับชุมชน