xs
xsm
sm
md
lg

“ดีลอยท์” ปัด ไม่มีเอี่ยวแปรรูป ทีโอที-กสท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดีลอยท์ เผย สคร.ไม่ได้จ้างดีลอยท์ ศึกษาข้อมูลแตก 3 บริษัท นำไปสู่การแปรรูป ทีโอที-กสท แต่รับทำโครงการศึกษาข้อมูลบรอดแบนด์ให้กระทรวงดีอี อย่างเดียว เผยอาจเป็นเหตุให้หยิบข้อมูลบางส่วนไป

นายวิษณุ ชุติมาชูทิศ ผู้จัดการอาวุโส บริษัท ดีลอยท์ คอนซัลทิ้ง จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ไม่ได้จ้างบริษัทให้ศึกษาข้อมูลในการนำมาซึ่งการแยกสินทรัพย์ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ออกเป็น 3 บริษัท คือ 1.บริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์ภายในประเทศ (NBN CO) 2.บริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศ (NGN CO) และ 3.บริษัทศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (IDC CO) ตามที่มติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) สั่งให้ทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจ ทำให้เสร็จภายในปี 2560

แต่บริษัทรับทำในโครงการศึกษาโครงข่ายสื่อสารบรอดแบนด์แห่งชาติ ให้กับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งกระทรวงมีแผนในการทำโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ กรอบงบประมาณ 15,000 ล้านบาท จึงได้ให้บริษัทศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน และประเมินความต้องการใช้งานบรอดแบนด์ การเลือกเทคโนโลยี และการแบ่งพื้นที่ อุปสรรคในการพัฒนาบริการบรอดแบนด์ในประเทศ กรณีศึกษาจากต่างประเทศ รวมถึงได้เสนอรูปแบบการมีองค์กรกลางเพื่อการพัฒนาโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ

ทว่า สคร.ได้นำข้อมูลในโครงการนี้ไปใช้ แต่ไม่ได้จ้างบริษัททำแต่อย่างใด ส่วนข้อสงสัยที่ว่า บริษัทได้งานภาครัฐหลายโครงการนั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะงานที่บริษัทได้จากภาครัฐนั้น นอกจากงานจากกระทรวงดีอีแล้ว ก็มีงานวิเคราะห์พันธมิตรทางธุรกิจที่ทำให้ทีโอที เท่านั้น

สำหรับวัตถุประสงค์ในการทำโครงการนี้ ก็เพื่อต้องการบูรณาการโครงข่ายบรอดแบนด์ระหว่างโครงข่ายมีสาย และไร้สาย ต้องการจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อบริหารจัดการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมร่วมกัน และสร้างโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำของประชากร ลดค่าใช้บริการบรอดแบนด์ และสามารถพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมให้เพียงพอต่อความต้องการในระยะยาวได้

นายวิษณุ กล่าวว่า ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว 6 ครั้งทั่วประเทศ ได้แก่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 1 ก.ย., จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 5 ก.ย., จ.กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. และ 8 ก.ย., จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 22 ส.ค. และ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 25 ส.ค. โดยในวันที่ 23 ก.ย.จัดเป็นครั้งสุดท้ายที่ จ.กรุงเทพฯ ซึ่งกำหนดการเดิม คือ หลังจากจัดงานเสนอผลการศึกษา และรับฟังความคิดเห็นในช่วงเช้าเสร็จ นางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงดีอี ต้องแถลงข่าวถึงผลการศึกษาที่เกิดขึ้น แต่เนื่องจากทางกระทรวง แจ้งว่า ปลัดติดภารกิจ จึงขอเลื่อนไปจัดงานแถลงข่าวในวันที่ 30 ก.ย.แทน

ส่วนผลจากการรับฟังความคิดเห็น ส่วนใหญ่ยังมีคำถามเกี่ยวกับการตั้งองค์กรกลางเพื่อบริหารจัดการโครงข่ายว่า รัฐวิสาหกิจจะมีส่วนร่วมในการดำเนินงานอย่างไร ซึ่งบริษัทเห็นว่า ในระยะสั้น รัฐถือหุ้น 100% แต่ในระยะยาว ก็ควรดึงดูดนักลงทุนเข้ามา ส่วนปัญหาที่มองว่า ในช่วงแรกองค์กรนี้ต้องขาดทุนในการดำเนินการช่วงแรก ซึ่งบริษัทเข้าใจว่า เป็นเรื่องปกติ แต่จะดีในระยะยาว

นอกจากนี้ ผู้ร่วมฟังผลการศึกษาที่ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และรัฐวิสากิจ อย่าง ทีโอที และ กสท ยังได้แสดงความกังวลอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเป็นหน่วยงานรัฐที่อาจติดปัญหาเรื่องกฎ ระเบียบ มีหน่วยงานตรวจสอบหลายหน่วยงาน อาจทำให้งานล่าช้า ประกอบกับประเทศไทยมีกฎหมาย และการกำกับดูแลด้านนี้อยู่แล้ว จะทำอย่างไรให้คล่องตัว รวมถึง หากเอกชนเข้ามาเช่าใช้โครงข่ายของรัฐแล้ว ราคาที่เหมาะสม และเชื่อถือได้เป็นอย่างไร จะมีการบริหารโครงข่ายอย่างเป็นระบบหรือไม่ ทรัพยากรบุคคลจะมีคุณภาพหรือไม่

โดยนายวิษณุ ได้ชี้แจงต่อผู้เข้ารับฟังว่า แม้หน่วยงานนี้จะถือว่า ถือหุ้นโดยรัฐ 100 % แต่เชื่อว่า รัฐบาลจะปลดกฎระเบียบบางอย่างให้ได้ เพื่อให้การทำงานคล่องตัวขึ้น ปัญหา คือ ในการทำงานน่าจะอยู่ที่ประสิทธิภาพของบุคลากร และการตัดสินใจของผู้บริหาร มากกว่า ยกตัวอย่าง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ก็ถือหุ้นโดยรัฐ แต่บริษัทก็สามารถเติบโตอย่างมีศักยภาพได้

“ต้องยอมรับว่า ข้อมูลเชิงลึกที่ทำส่วนใหญ่มาจาก ทีโอที และ กสท แต่ในฝั่งของเอกชน เราได้มาไม่ลึก เพราะเขาอ้างเรื่องความลับทางธุรกิจ และเราก็ไม่ได้ข้อข้อมูลผ่านสมาคมโทรคมนาคม เพราะเรารับงานจากกระทรวง แต่อาจจะให้ข้อมูลผ่านกระทรวงมา เพราะเห็นมีการประชุมกันอยู่”
กำลังโหลดความคิดเห็น